‘คนไทย’ ฐานะแย่ลงในรอบ 10 ปี มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท

‘คนไทย’ ฐานะแย่ลงในรอบ 10 ปี มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาท

ของแพง ค่าแรงไม่ขึ้น! ทำคนไทยมีเงินออมต่ำสุดในรอบ 10 ปี! สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ชี้ ปี 66 “เงินฝากคนไทย” น้อยกว่า 50,000 บาท 81 ล้านราย เหตุค่าครองชีพ - ราคาน้ำมันสูง มองปัญหาลากยาวอีกอย่างน้อย 2 - 3 ปี สอดคล้องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังตึงเครียดต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วง และต้องจับตาดูกันต่อเนื่องหลังตัวเลข GDP ปี 2566 โตต่ำกว่าคาด แม้จะมีการประเมินตัวเลขปี 2567 เป็นบวกแต่สถานการณ์โลกยังมีปัจจัยท้าทายอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อ เหตุการณ์ฟองสบู่อสังหาฯ ในจีน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐที่หากในอนาคตมีการปรับตัวสูงขึ้นก็อาจทำให้เกิด “หนี้เสีย” ตามมาในภายหลังได้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินฝากในบัญชีเป็นอีกส่วนที่สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยได้ โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” หรือ “สคฝ.” รายงานสถิติเงินฝากคนไทย โดยพบว่า จำนวน “ผู้ฝาก” ที่ได้รับการคุ้มครอง (วงเงินการคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท ต่อ 1 คน ต่อ 1 สถาบันการเงิน) เติบโตกว่า 3.37% หรือคิดเป็นตัวเลข 93.46 ล้านราย ทว่าในจำนวนผู้ฝากที่เพิ่มขึ้นกลับสวนทางกับ “ตัวเลขเงินฝาก” ที่ได้รับความคุ้มครองโดยพบว่า คนไทยมีจำนวนเงินฝากลดลงจากปีก่อน (ปี 2565) 1.32% มูลค่ารวม 15.96 ล้านบาท

“ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์” ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถิติเงินฝากในเดือนสิงหาคม ปี 2566 มีอัตราการเติบโตลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี หากไล่ดูเฉพาะ 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมาจะพบว่า แต่ละปีมีอัตราการเติบโตเป็นบวกเพิ่มขึ้นราว 3-5% กระทั่งในปี 2566 ที่มีจำนวนเงินฝากลดลงไป 1.3% โดย “ทรงพล” ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวคือ “การไหลตัวของคนที่มีฐานะแย่ลง” 

ในภาพรวมตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 จำนวนผู้ที่มีเงินฝากระหว่าง 200,000 ถึง 500,000 บาท ลดลง 3.3% และผู้ที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท เพิ่มขึ้น 6.37% รวมทั้งสิ้น 81 ล้านราย โดยในจำนวน 50,000 บาทนี้ ยังมีผู้ที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5,000 บาทรวมอยู่ด้วย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินฝากในบัญชีลดลงมีหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่ราคาสินทรัพย์มีมูลค่าอย่าง “ทองคำ” ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการโยกย้ายเงินลงทุนไปในกิจกรรมอื่นๆ แทนซึ่งรวมไปถึงหุ้นกู้ผลตอบแทนสูง หรือตลาดตราสารหนี้ด้วย เมื่อคนตัดสินใจดึงเงินออกไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ธนาคารพาณิชย์จึงมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย-ป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ ธนาคารพาณิชย์บางรายเริ่มมีการเสนอผลิตภัณฑ์ฝากเงินสกุลดอลลาร์ด้วยข้อเสนอดอกเบี้ยเงินฝาก 5% หรือที่เรียกว่า เงินฝากประเภท “Foreign Deposit” 

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้แสดงความกังวลถึงปัจจัยที่มีส่วนให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างฟีเจอร์ “BuyNowPayLater” ว่า ทำให้เกิดการก่อหนี้ในระยะยาวตั้งแต่หลักเดือนถึงหลักปี แม้ความสามารถในการหารายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่สถานการณ์ยังทรงตัวอยู่ ความเสี่ยงคนไทยในขณะนี้คือ มีเงินเก็บน้อยลง หากเกิดเหตุไม่คาดฝันในอนาคตอีกจะต้องมีเงินสำรองกันกระแทกได้ ปัจจัยสำคัญในปีนี้ คือ สงครามที่ยังยืดเยื้อ และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไรจึงแนะนำให้ออมเงินเพิ่มขึ้น หากเป็นการก่อหนี้ที่ทำให้เกิดรายได้เห็นว่าเป็นความจำเป็น แต่ถ้าเป็นการก่อหนี้ที่ “ใช้แล้วหมดไป” ควรใช้ให้น้อยลง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์