จับตานบข.เคาะงบ6.9หมื่นล้าน แผนรับมือข้าวนาปี25ล้านตัน

จับตานบข.เคาะงบ6.9หมื่นล้าน  แผนรับมือข้าวนาปี25ล้านตัน

พาณิชย์ ชง ทุ่มงบ 6.9 หมื่นล้านบาท ผุด 4 มาตราการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 เตรียมเสนอ นบข. วันที่ 1 พ.ย.นี้ด้าน“ชาวนา”พอใจ ขอให้ช่วยเหลือหาแหล่งน้ำรับมือเอลนีโญ ด้านส่งออกข้าวก.ย. เพิ่ม 26.5%ส่งผลราคาข้าวเปลือกเจ้าทะลุหมื่นบาท

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยว่า ได้แจ้งให้ชาวนาทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพ.ย. 2566 ไว้พร้อมแล้ว หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออกโดยมีจำนวน 4 มาตรการ ที่จะนำมาใช้ดูแลผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 เป็นต้นไป มีวงเงินที่จะนำมาใช้รวม 69,043.03 ล้านบาท

สำหรับ 4 มาตรการประกอบด้วย

1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.2566-29 ก.พ.2567 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้

 2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ 1 ต.ค.2566-30 ก.ย.2567

3.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต็อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2,120 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย.2566-31 มี.ค.2567 4.การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท

“ปีนี้เราอาจจะไม่มีมาตรการรับจำนำข้าว หรือมาตรการประกันรายได้ แต่ก็มีโครงการช่วยเหลือดูแลเสถียรภาพราคาข้าว 14 ล้านตัน ที่กำลังทยอยออก โดยให้เกษตรกร สหกรณ์ และให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือก ไม่ตกต่ำ โดยเตรียมงบประมาณ 6.9หมื่นล้านบาท ไปดูแลราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ โดยจะเสนอกรอบวงเงินและมาตรการให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 และเร่งนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่ออนุมัติต่อไป”

 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 คาดว่าจะมีปริมาณ 32 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นข้าวเปลือกนาปี 25.57 ล้านตัน ลดลง 6% ข้าวเปลือกนาปรัง 6.78 ล้านตัน ลดลง 12% ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ ยังทรงตัว แม้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด โดยข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,550 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,800 บาท

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เบื้องต้น ชาวนาพอใจกับมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกนาปี 2566/67 แต่ต้องรอดูว่ามาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหาตรงประเด็น และทำให้ชาวนาอยู่ดีมีสุขหรือไม่  ทั้งนี้ชาวนาขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแลปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในภาคธุรกิจเกษตรกรรม ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและการรักษาสมดุลทางด้านกสิกรรมควบคู่กับการรักษาระบบนิเวศ การจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบวิกฤตภัยแล้งในปีต่อไป หรือ เอลนีโญ่

นอกจากนี้ขอให้มีการวิจัยและจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ มีความทนทานทั้งหนาวและร้อน ผลผลิตที่ตอบโจทย์ของเกษตรกร ควบคู่กับอายุที่จำกัดด้วยสภาวะผันแปรทางธรรมชาติเช่นทนแล้ง ทนหนาว ทนโรค และมีคุณภาพเป็นที่ต้องการทั้งตลาดบริโภคภายในประเทศ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

การส่งเสริมโครงสร้างการลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ้ย ยา และต้นทุนพลังงาน,การพักหนี้เกษตรกร โดยขอให้รัฐจัดทำโครงการพักต้นและดอกเบี้ยตามกรอบระยะเวลา 4 ปี กรอบหนี้สินไม่เกิน300,000 บาท ,ขอให้ภาครัฐพิจารณาจัดทำโครงการช่วยเหลือค่าปรับปรุงบำรุงดินและค่าบริหารจัดการแปลงนา ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ 

“เรามีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในระยะยาว เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นหลักประกันในความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร” 

สำหรับการส่งออกข้าว 9 เดือนแรกปี 2566(ม.ค. -ก.ย.) ปริมาณ 6,082,135 ตัน เพิ่มขึ้น 12.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (AOA) ส่วนการส่งออกเดือน ก.ย. 2566 ปริมาณ 806,775 ตัน เพิ่ม 26.5% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (yoy)