ปมร้อนขึ้นราคาน้ำตาล จับตา ครม.เคลียร์ ‘พาณิชย์-อุตสาหกรรม’

ปมร้อนขึ้นราคาน้ำตาล จับตา ครม.เคลียร์ ‘พาณิชย์-อุตสาหกรรม’

‘พาณิชย์’ ตัดหน้า ‘อุตสาหกรรม’ ประกาศคุมราคาหน้าโรงงาน กกร.ถกด่วนหลัง สอน.ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 4 บาท ชง ครม.เห็นชอบให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ประกาศราคาหน้าโรงงาน 19-20 บาท พร้อมกลับมาคุมราคาขายปลีกอีกครั้ง 23-24 บาท

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 4 บาท โดยราคาน้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 24 บาท มีผลวันที่ 28 ต.ค.2566

การประกาศดังกล่าวทำให้ห้างค้าปลีกหลายแห่งมีกำจำกัดปริมาณการซื้อน้ำตาลทรายไม่เกิด 3-6 กิโลกรัม/บิล เพื่อรอการปรับราคาขายปลีกใหม่ รวมทั้งทำให้กระทรวงพาณิชย์ออกมากำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพประชาชน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กกร.มีมติประกาศให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 31 ต.ค.2566 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ทันที

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบประชาชนและทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่อาจขึ้นราคา หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่

ปมร้อนขึ้นราคาน้ำตาล จับตา ครม.เคลียร์ ‘พาณิชย์-อุตสาหกรรม’

รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแล 2 มาตรการ คือ 

1.กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 20 บาท รวมทั้งกำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 25 บาท 

รวมทั้งการกำหนดราคาขายปลีกดังกล่าวจะทำให้ราคาขายปลีกยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ส่วนจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลจะกำหนดราคาตามระยะทางและต้นทุนการขนส่ง

2.ควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตัน ขึ้นไป โดยต้องขออนุญาตคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นและมีเลขาธิการ สอน.เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน มีผู้แทน สอน.เป็นเลขานุการ และตัวแทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่กระทบการส่งออกน้ำตาลทราย

“การนำน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมเพื่อให้บริหารจัดการได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ห่วงใยประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบ  และยังกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอีกเป็นจำนวนมากจึงต้องเข้ามากำกับดูแล” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เมื่อน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมแล้วหากขายเกินราคาควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการมาตรา 25 จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีกักตุนจะมีความผิดตามมาตาม 30 จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนที่พบสามารถร้องเรียนสายด่วน 1569 

ส่วนมติของ สอน.ที่ประกาศขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานจะไม่มีผล และ สอน.ต้องกลับไปดำเนินการให้สอดคล้องมติ กกร. สำหรับชาวไร่อ้อยจะไม่ได้รับผลกระทบหรือถูกทอดทิ้ง โดยได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมจะดูแลเต็มที่

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุม ครม. ให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม ประกาศ สอน. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566 เรื่องการขึ้นราคาน้ำตาลทรายจึงไม่มีผล ทั้งนี้ สอน. ต้องการให้ชาวไร่ได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาส่งออกรวมถึงช่วยเหลือต้นทุนที่สูงขึ้นจากการตัดอ้อยสด อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าไม่ควรผลักภาระไปที่ผู้บริโภคโดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบแทน

ทั้งนี้ ก็จะต้องมีมาตรการที่จะมารองรับเรื่องการส่งออกเพื่อป้องกันให้น้ำตาลในประเทศไม่ขาดแคลนด้วย โดย สอน.เองมีการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลสำรองน้ำตาลไว้ประมาณ 1 เดือนเผื่อฉุกเฉิน หรือ 2 ล้านกระสอบ กระสอบละ 100 กิโลกรัม ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลหีบอ้อย ช่วงเดือน ธ.ค.2566 ที่เพิ่งเริ่มมีน้ำตาลฤดูกาลใหม่ออกมา