สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร ดันส่งออกไทยเดือนก.ย.บวกต่อเนื่อง

สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร ดันส่งออกไทยเดือนก.ย.บวกต่อเนื่อง

ส่งออกไทยสัญญาณดีต่อเนื่อง กลับมาเป็นบวก 2 เดือน พาณิชย์ เตรียมถกทูตพาณิชย์ต้นพ.ย.นี้ วางแนวทางส่งออก ปี 67 หลังปี 66 หมดลุ้นเป็นบวก

กระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกของไทยเดือน ก.ย.66 ขยายตัว 2.1% มูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลับมาเป็นบวกติดต่อกัน 2 เดือน จากที่เดือน ส.ค.ส่งออกขยายตัวที่ 2.6% ซึ่งการส่งออกเดือน ก.ย.2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.1% เป็นการกลับมาเป็นบวกต่อ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.2% พ.ย.2565 ลด 5.6% ธ.ค.2565 ลด 14.3% ม.ค.2566 ลด 4.6% ก.พ.2566 ลด 4.8% มี.ค.ลด 4.2% เม.ย.2566 ลด 7.7% พ.ค.ลด 4.6% มิ.ย. ลด 6.5% ก.ค.ลด 6.2% และกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในเดือนส.ค.2566 ที่ 2.6% 

เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ถือว่าไทยทำได้ดี โดยอินเดีย ลบ 2.6% เกาหลีใต้ ลบ 4.4% จีน ลบ 6.2% สิงคโปร์ ลบ 9.5% มาเลเซีย ลบ 16.2% และอินโดนีเซีย ลบ 16.2% แต่เวียดนาม กลับมาบวกเช่นเดียวกับไทย โดยเพิ่มขึ้น 2.1% 

การส่งออกเดือนก.ย.ที่ยังเป็นบวกมากจากการส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัว 12 % พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ  5 เดือน โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน มังคุด  โดย ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวถึง 166.2 % มูลค่า 618 ล้านดอลลาร์ เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน  ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง ข้าว ขยายตัว 51.4 % มูลค่า 493.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน  ในตลาดแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และเบนิน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 3.7%  มูลค่า 310.9 ล้านดอลาร์ กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว  12.8 % มูลค่า 150.9  ล้านดอลลาร์  ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้  เนเธอร์แลนด์  เป็นต้น  

นอกจากนี้สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบขยายตัว 46.4 % มูลค่า 444.3 ล้านดอลลาร์  ขยายตัว 23 เดือนต่อเนื่อง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 28.8 % มูลค่า 415.9 %ดอลลาร์  ขยายตัว 15 เดือนต่อเนื่อง อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 27.3 % มูลค่า 1,286.1 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 3.3 % มูลค่า 2,533.5 ล้านดอลลาร์  ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องและสินค้า ดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบตามเมกะเทรนด์ เช่นโซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ 

สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญก็ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัว 14.4 % ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนและการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน (5)และเอเชียใต้ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน โดยขยายตัว 7.8 %

แต่งงการส่งออกของไทยไปยังหลายตลาดยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นนอนของเศรษฐกิจโลก โดยในเดือนก.ย.นี้ตลาดสำคัญของไทยที่หดตัว คือ ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ 5 % ตลาดสหภาพยุโรป ติดลบ 9.3 % โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ติดลบถึง 10 %โดยสินค้าที่ส่งอออกหดตัว เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ฮาร์ดไดรฟ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กหรือขนาดพกพามากขึ้น  

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในเดือนต.ค.-ธ.ค.กระทรวงพาณิชย์คาดว่า ตัวเลขน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะติดลบน้อยกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์เอาไว้ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจาก ภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ตามเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด 

อย่างไรก็ตามก็ยังมีความกังวลสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งอาจจะขยายวงกว้างจนกระทบต่อการค้าโลกในระยะต่อไปแม้ว่า อิสราเอลจะไม่ได้คู่ค้าลำดับต้นของไทยก็ตามซึ่งปัจจุบัน อิสราเอล เป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางหากสงครามยืดเยื้อยาวนาน คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศอิสราเอลถดถอยย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของอิสราเอลกับประเทศต่างๆ รวมทั้งการค้ากับไทยด้วย  

กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าทำงานส่งออกปีนี้ไว้บวก 1% โดยทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด กำลังจัดทำสถานการณ์และแผนงานเพื่อนำเสนอกระทรวงฯ และมีประชุมในวันที่ 3 พ.ย. และ 10 พ.ย.อีกครั้ง เพื่อให้เห็นภาพการส่งออกและแนวทางผลักดันการส่งออกปี 2567