ท็อป 10 'แบรนด์อีวีจีน' บุกไทย ‘ฉางอาน’ รายล่าสุดตั้งโรงงานผลิต

ท็อป 10 'แบรนด์อีวีจีน' บุกไทย ‘ฉางอาน’ รายล่าสุดตั้งโรงงานผลิต

บริษัทอีวีท็อป 10 จีนแห่ลงทุนไทย ตั้งฐานการผลิตจำหน่ายในประเทศและส่งออก ล่าสุด “ฉางอาน” แบรนด์จีนรายล่าสุด ซื้อที่ดินนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ 250 ไร่ ตั้งฐานการผลิต EV กำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี เผยลงทุนเฟสแรก 8,862 ล้านบาท

การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรืออยู่ที่ 725,000 คันต่อปี

ปัจจุบันมีบริษัท EV จีนที่มีรายได้ระดับ TOP 10 ของจีนในปี 2565 เข้ามาลงทุน เข้ามาทำตลาดหรือมีแผนเข้ามาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า 6 ราย ดังนี้ 

BYD บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของจีนที่มียอดผลิตปีละ 1.8 ล้านคัน ปี 2565 มีรายได้ 288,000 ล้านหยวน กำลังตั้งโรงงานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36 มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน

SAIC Motor ที่มีรายได้ปีที่แล้วเป็นอันดับ 2 ที่ 64,080 ล้านหยวน ซึ่งได้จับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ทำตลาดรถยนต์ MG ในไทย และล่าสุดกำลังตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน

GAC มีรายได้เป็นอันดับ 4 ในปีที่แล้ว 45,570 ล้านหยวน อยู่ขั้นตอนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับ BOI โดยประกาศมูลค่าการลงทุนในไทย 6,400 ล้านบาท และได้เริ่มนำเข้ารุ่น AION Y Plus มาทำตลาดในไทย

Geely มีรายได้เป็นอันดับ 6 ในปีที่แล้ว 30,500 ล้านหยวน ปัจจุบันมีแผนนำ EV Pickup มาจำหน่ายในไทย ต.ค.2566 รวมทั้งเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายแดเนียล ลี CEO บริษัท Geely ระหว่างที่เยือนจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ในไทยยังมีผู้ทำตลาดไม่มาก

ฉางอาน ออโต้ มีรายได้เป็นอันดับ 9 ในปีที่แล้ว 19,080 ล้านหยวน มีแผนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบนเตอรี่ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง มูลค่าการลงทุน 8,862 ล้านบาท เริ่มผลิตไตรมาส 1 ปี 2568 และมีกำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน

เกรท วอลล์ มอเตอร์ส มีรายได้เป็นอันดับ 10 ในปีที่แล้ว 15,130 ล้านหยวน โดยได้ประกาศแผนการลงทุนในไทย22,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

Top 10 บริษัทรถอีวีจีน 2566

“ฉางอาน” เริ่มผลิตในไทยต้นปี 68

ความเคลื่อนไหวของบริษัท EV จีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกาศลงนามสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียจำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่บริษัทยานยนต์ชั้นนำของจีนในด้านยอดผลิตรถ 

สำหรับพื้นที่ 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ครั้งสำคัญในปี 2566

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฉางอานเป็นหนึ่งในสี่ผู้นำกลุ่มยานยนต์ของจีน มีฐานการผลิต 12 แห่งทั่วโลก โดยปี 2565 มียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 2.5 ล้านคัน 

รวมทั้งตั้งแต่ปี 2560 เริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังงานใหม่ (Shangri-la Plan) เพื่อขยายการลงทุนยานยนต์แห่งอนาคต สนับสนุนเป้าหมายการเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับโลกและผู้นำเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัจฉริยะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปักธง “ดับบลิวเอชเอ” ตั้งโรงงาน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความยินดีที่ได้ลงนามซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก BOI ในด้านสิทธิประโยชน์การจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย

“เหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ในไทย ด้วยปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ อีกทั้งรัฐบาลไทยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030 และในมิติความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมียาวนานและเป็นคู่ค้าที่สำคัญมาตลอด 10 ปี" 

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีสิ่งที่บริษัทมองหาทั้งทำเลที่ตั้งในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง 

บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนในเฟสแรก 8,862 ล้านบาท โดยจัดตั้ง 3 บริษัทในประเทศไทย ได้แก่ 

1.บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด 

2.บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

3.บริษัท ฉางอาน ออโต้ คอมโพเน้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด 

รวมทั้งฐานการผลิตในไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกไปอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในไตรมาสแรกปี 2568

เปิดตัวรถในงานเอ็กโป พ.ย.นี้

“แผนการขายบริษัทเตรียมเริ่มทำกิจกรรมทางการตลาดในไทย และเปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์ เอ็กโป 2023 ที่จะจัดขึ้นช่วงสิ้นเดือน พ.ย. โดยจะนำรถทุกโมเดลมาจัดแสดง รวมถึงเปิดจองและพร้อมขาย 2 โมเดลแรกภายในงาน และอีก 1 โมเดลในปีหน้า โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 2-3 หมื่นคันในปี 2567 ขณะเดียวกันได้มีการวางแผนตั้งศูนย์บริการ40 แห่งภายในปี 2567 และขยายเป็น 60 แห่งทั่วประเทศในอนาคต รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเจรจากับตัวแทนจำหน่ายในประเทศ”

นายเซิน กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตในระยะที่ 2 เพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี ในปี 2569 นอกจากนี้เรายังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วยเพื่อส่งเสริมการแลปเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับภาครัฐคาดว่า 3-5 ปีน่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน

“ฉางอาน” จองที่ดินขยายเฟส 2

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด ให้ความเชื่อมั่นและเลือกดับบลิวเอชเอเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย

“การลงนามซื้อขายที่ดินครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย นอกจากนี้ในการลงทุนเฟส 2 ฉางอานจองพื้นที่ส่วนขยายนิคมฯ แล้วราว 300 ไร่”

รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนในไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทไทยในอุตสาหกรรม EV บนเวทีโลก เพราะแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอานต่อไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาดระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต

“เร็วๆ นี้จะมีอีกข่าวดีสำหรับฉางอาน เพราะรัฐบาลกำลังเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะเป็นช่วงที่ฉางอันสร้างโรงงานเสร็จพอดี ทำให้ฉางอานจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังตลาด EU ได้ด้วย”

“จีน” อันดับ 1 ลงทุน EV ในไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยต้อนการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ใน EEC ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย BOI อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 23 โครงการ จาก 16 บริษัท เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่าการลงทุน 1,440 ล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในอาเซียน ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของไทยในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก

ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับแผนของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

นายกฯประชุมบอร์ด EV นัดแรก 1 พ.ย.

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยวาระเร่งด่วนจะพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า 3.5 หรือ EV Subsidy Package (EV 3.5) ซึ่งจะมาใช้แทนมาตรการ EV 3.0 ที่จะหมดอายุในปี 2566 

ทั้งนี้หากรัฐบาลผลักดันออกมาได้เร็วและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีในไทย รวมทั้งช่วยสนับสนุนตลาดรถอีวีในประเทศด้วย

สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะลดเงินสนับนสนุน EV กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและกระบะจาก 70,000-150,000 บาท เหลือ50,000-100,000 บาท และยกเลิกเงินสนับสนุนกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 

รวมทั้งปรับอัตราส่วนรถยนต์ที่ต้องผลิตภายในประเทศเพื่อชดเชยรถยนต์นำเข้าทั้งคัน โดยเพิ่มจาก 1.0-1.5 เท่า อาจเพิ่มเป็น 2-3 เท่าเพื่อสนับสนุนการผลิต EV ในประเทศ