'ครม.' หั่นภาษีอุ้ม แก๊สโซฮอล์ 91 ป่วนตลาดราคาน้ำมันกลุ่ม 'เบนซิน'

'ครม.' หั่นภาษีอุ้ม แก๊สโซฮอล์ 91 ป่วนตลาดราคาน้ำมันกลุ่ม 'เบนซิน'

ครม.รับหลักการลดราคาโซฮอลล์ 91 ลิตรละ 2.5 บาท โดยหั่นภาษีสรรพสามิต 3 เดือน คาดรัฐสูญรายได้พันล้าน “พีระพันธุ์” เสนอครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า “ธีระชัย” ชี้บิดเบือนราคาน้ำมัน เอื้อใช้ภาษีอุ้มผู้ผลิต แนะต้องแก้ที่โครงสร้างน้ำมัน "ส.อ.ท." ชง 3 แนวทาง ช่วยแก้ราคาน้ำมันยั่งยืน

การดูแลราคาพลังงานเป็นนโยายที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ โดยที่ผ่านมาได้ลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ต.ค-ธ.ค.2566 เหลือหน่วยละ 3.99 บาท รวมทั้งลดราคาดีเซลลงเหลือไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวม 3 เดือน หรือถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 รวมทั้งล่าสุดมีนโยบายราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินแบบถ้วนหน้า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานจะเสนอให้ลดราคาเฉพาะกลุ่ม เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ต.ค.2566 เห็นชอบในหลักการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลง 2.5 บาทต่อลิตร เฉพาะน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอลล์ 91 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยจะใช้วิธีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินชนิดนี้ลง 2.5 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผลทันทีหลังจากที่นำรายละเอียดเข้าสู่การประชุม ครม.ในวันที่ 31 ต.ค.2566 โดยรัฐบาลจะสูญเสียรายได้จาการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินชนิดนี้ลง 1,000 ล้านบาทเศษ ในการลดภาษีสรรพสามิต 3 เดือน โดยหลักการที่ใช้ในการลดราคาน้ำมันส่วนนี้เหมือนกับการลดราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้การลกภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงเช่นกัน

“ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไปศึกษาแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน ผมไปทำงานร่วมงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าส่วนที่ทำได้ก่อนคือการลดภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.5 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะให้มีผลทันทีหลังจากที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า” นายพีระพันธุ์ กล่าว

สำหรับการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินส่วนอื่นๆ เช่น เบนซิน 95 หรือน้ำมันเกรดอื่นจะมีการปรับปรุงต่อไป โดยจะต้องดูโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้เลยจึงต้องใช้ระยะเวลาในการทำเรื่องนี้อีกพอสมควร

"ธีระชัย“ชี้ต้องแก้โครงสร้างราคา

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่กระทรวงพลังงานลดราคาเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 ในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินนั้น ตนอยากให้นายพีระพันธุ์ ระมัดระวังข้อเสนอจากข้าราชการ เพราะมีข้าราชการจำนวนมาก ที่ยึดผลประโยชน์ของบริษัทนายทุนเป็นหลัก เว้นแต่ท่านจะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อกลุ่มทุน ไม่ใช่เพื่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินแต่กระเป๋าของรัฐเพื่ออุ้มกลุ่มทุนหรือไม่ รมว.พลังงาน น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า การแก้ปัญหาราคาพลังงานให้แก่ประชาชน ที่จะมีความยั่งยืน นั้น ต้องแก้ที่โครงสร้างธุรกิจ ทั้งปัญหาเสือนอนกิน และปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ให้เป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ 2.50 บาทต่อลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินนั้น ไม่ได้แก้ที่โครงสร้างธุรกิจ

“มาตรการนี้ เป็นมาตรการที่เอื้ออำนวยให้บริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ ยังสามารถเป็นเสือนอนกิน ยังสามารถมีกำไรเกินสมควร และมาตรการนี้ ประชาชนได้ประโยชน์เพียงชั่วคราว เพราะในอนาคตรัฐบาลก็จำเป็นจะต้องเก็บภาษีสรรพสามิตกลับคืน เสมือนรัฐบาลจะเอาเงินของประชาชนในอนาคต 2.50 บาทต่อลิตร มาลดราคาเบนซินในปัจจุบัน เพียงเท่านั้น ดังเช่น อัฐยายซื้อขนมยาย”

นอกจากนี้ ยังถือเป็นมาตรการที่จะกลับเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายของปั๊มน้ำมัน ใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดนโยบายปรับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 กับแก๊สโซฮอล์ 95 ให้ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เมื่อแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่า เพียงลิตรละ 15-27 สตางค์ ความนิยมใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ก็ลดลง เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 95 ให้พลังแรงกว่า หรือขับได้ไกลกว่า

ปั๊มขายแก๊ซโซฮอลล์ 91 เหลือแค่10%

ทั้งนี้ ได้สอบถามสถานีบริการน้ำมัน ต่างระบุว่า สัดส่วนการขายน้ำมันแต่ละชนิดคร่าว ๆ คือ แก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 65% แก๊สโซฮอล์ 91 มีเพียงประมาณ 10% เท่านั้น โดยปัจจัยมาจากนโยบายที่ราคาขายต่างกันไม่มาก ทำให้ปริมาณขายแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาตลอด และสถานีบริการน้ำมันส่วนใหญ่จะเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของสถานีบริการน้ำมัน เพราะไม่ต้องมีถังเก็บเฉพาะสำหรับแก๊สโซฮอล์ 91

“ปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่ก็ได้เลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 ไปแล้ว แต่ถ้า รมว.พลังงาน กลับไปทำให้ราคาต่างกันมากถึง 2.50-2.70 บาทต่อลิตร ประชาชนก็จะหันกลับไปใช้แก๊สโซฮอล์ 91 อีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของปั๊มน้ำมันกลับสูงขึ้นหรือไม่ เพราะเครือข่ายขนาดกลางและขนาดเล็ก จำนวนมากในต่างจังหวัด ได้เลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 ไปแล้ว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างปั๊มน้ำมันหรือไม่”

ส.อ.ท.แนะหาทางช่วยระยะยาว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลดราคาเบนซิน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลักคือกลุ่มประชาชนทำมาหากิน ถือเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้มีการช่วยเหลือระยะยาว จะต้องดูที่โครงสร้างซึ่งจะต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกนอกเหนือจาก 2 แนวทางที่ปักหมุดจากการใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ ผ่าน การลดภาษีน้ำมัน และใช้กลไกจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มาสนับสนุนซึ่งควรใช้เฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เพื่อไม่ให้เป็นการใช้เงินจากภาษีประชาชนมากจนเกินไป

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น เมื่อมองจากการปรับโครงสร้าง และปรับแนวทางการดำเนินงานทั้งประเทศเพื่อให้ราคาน้ำมันทุกกลุ่มถูกลง 3 แนวทาง คือ 

1. เร่งเจรจากับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันที่ถูกกว่าแหล่งเดิม เช่น รัสเซียที่มีราคาถูกกว่า โดยปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปก ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อราคาน้ำมันในตลาดมีราคาต่ำลง กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันก็จะลดกำลังการผลิตเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้น

2.รัฐบาลต้องดูโครงสร้างราคาที่ต้นทุน เพราะประเทไทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อมากลั่นเป็นเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และหากเหลือก็ส่งออก สิ่งสำคัญคือ จะต้องดูต้นทุนการผลิต และค่าการตลาดที่เหมาะสม ซึ่ง ส่วนตัวมองว่า ในช่วงที่รัฐบาลใช้กลไกการลดภาษี ซึ่งจะหมดมาตรการสิ้นปี 2566 นี้ ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลืออยู่ที่จะต้องศึกษาอย่างจริงจัง

3.หาพลังงานธรรมชาติเพื่อลดการนำเข้า เช่น เอทานอล หรือ ไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นทางออกในระยะต่อไป เพราะน้ำมันเบนซินที่ใช้สามารถผสมเอทานอลได้ เช่น แก๊สโซฮอล์ อี20 ที่เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มาจากผลิตผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรในประเทศได้ดี

“ภาครัฐควรสนับสนุนชาวเกษตรกรที่ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังโดยสนับสนุนเครื่องจักร เพื่อทดแทนจำนวนคน จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง พลังงานที่มาจากอ้อยหรือมันสำปะหลังจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ อี20 อย่างจริงจัง เพราะสัดส่วนการผลสมน้ำมันเบนซิน 80% จะเพิ่มดีมานด์ของเอทานอลมากขึ้น ทำให้เกษตรกรขายผลผลตดีขึ้น ลดกานำเข้าน้ำมันดิบ และส่งออกประเทศเพื่อนบ้านได้ เหมือนกับน้ำมันดีเซลที่มีน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล 7% มาผสมเป็น บี7 ลดและพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล

นายอิศเรศ กล่าวว่า เอกชนได้เคยเสนอรัฐบาลสมัยที่ผ่านมาแล้ว ถึงการหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก เช่น สเปกน้ำมันก็สามารถปรับได้ อีกทั้งประเทศไทยมีคู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 มากกว่า 1 ราย หากเปิดเสรีกับเอกชนเสมือน B2B ก็ทำได้ เช่น อินโดนีเซีย และ อินเดีย ซึ่งมีการนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่จากแหล่งเดียว ไทยก็สามารถเดินตามได้

ทั้งนี้ มองว่า การคุมค่าการตลาด การปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น จะทำให้มีการแข่งขันเสรีมากยิ่งขึ้น ไทยมีโรงกลั่นที่สามารถแข่งขันได้หลายราย อีกทั้ง น้ำมันเป็นปัจจัยพื้นฐานทั้ง รัฐบาลจะมีส่วนทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องอย่าลืมว่าการที่ไทยพึ่งพิงการนำเข้ามากเกินไปผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระ

นายอิศเรศ กล่าวถึง ทิศทางสงครามอิสราเอลและฮามาส ว่า หากสงครามไม่ยืดเยื้อไม่มีประเทศที่ 3 มาร่วมราคาน้ำมันตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือว่าไม่น่ากังวล แต่หากบานปลายขยายวงกว้างมากขึ้น ปละหากราคาทะลุเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล รัฐบาลควรจะบริหารที่ต้นทุนจากการนำเข้าจาก 3 แนวทางที่ตนเสนอ จะช่วยสร้างความยั่งยืน

“สิ่งที่ห่วงตอนนี้คือเศรษฐกิจโลก ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลถึงต้นทุน ซึ่งเชื่อว่าวิกฤติสงครามไม่น่าบานปลาย สิ่งสำคัญคือ อยากให้เศรษฐกิจโลก เช่น จีนดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาในไทยมากขึ้นดั่งเดิม”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน รอบ 8 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 31.91 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.5% การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.10 ล้านลิตรต่อวัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.94 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี 85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.83 ล้านลิตรต่อวัน 0.19 ล้านลิตรต่อวัน และ 0.47 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ โดยส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับแก๊สโซฮอล์ อี 20 มีราคาที่ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ อี 85