เครือข่ายสถาบันเกษตร-ผู้ค้าปุ๋ยเคมี สร้างกลไกลุย“โครงการปุ๋ยราคาถูก”

เครือข่ายสถาบันเกษตร-ผู้ค้าปุ๋ยเคมี   สร้างกลไกลุย“โครงการปุ๋ยราคาถูก”

โครงการปุ๋ยราคาถูก คือการแก้ปัญหาที่ถูกจุดในช่วงที่ราคาปัจจัยผลทางเกษตรปรับตัวสูงขึ้น การดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ในช่วงท้ายปีนี้ ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่าได้รับความสนใจจำนวนมาก ล่าสุดมีเกษตรกรร่วมลงทะเบียนมากถึง 2.8 หมื่นคน

ปุ๋ยเคมี เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและจำเป็นต่อภาคการเกษตรของไทย แต่ ราคาปุ๋ยแพง ยังเป็นปัญหา ที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขทุกปีเพราะไทยไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีได้เอง แม่ปุ๋ย คือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) หรือ โพแทสเซียม (K)ยังอาศัยการนำเข้า อีกทั้ง คุณภาพของปุ๋ยเคมี เป็นอีกความเสี่ยงของเกษตรกรรายย่อยเพราะหากปุ๋ยไม่ดี การลงทุนและลงเเรงในการผลิตทางเกษตรนั้นๆก็อาจเท่ากับสูญเปล่า 

เครือข่ายสถาบันเกษตร-ผู้ค้าปุ๋ยเคมี   สร้างกลไกลุย“โครงการปุ๋ยราคาถูก”

เครือข่ายสถาบันเกษตร-ผู้ค้าปุ๋ยเคมี   สร้างกลไกลุย“โครงการปุ๋ยราคาถูก”

ดังนั้นเพื่อรองรับการเพาะปลูกพืชหลังนา กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงร่วมกับกรมการค้าภายใน สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ดำเนินโครงการเชื่อมโยงปุ๋ยเคมีราคาถูกให้แก่เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร ตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนธ.ค. 2566 

สำหรับกลไกความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการนำข้อมูลความต้องการใช้ปุ๋ยซึ่งได้จากการรวบรวมจากสถาบันเกษตรกรเป็นรายสัปดาห์และส่งไปยังกรมการค้าภายในซึ่งจะมีข้อมูลปริิมาณการซื้อขายภายใน 10 วันของเดือนถัดไปซึ่งได้จากสมาคม เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตจัดสรรให้เกษตรกรในราคาพิเศษ

เครือข่ายสถาบันเกษตร-ผู้ค้าปุ๋ยเคมี   สร้างกลไกลุย“โครงการปุ๋ยราคาถูก”

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ สามารถซื้อปุ๋ยเคมีได้ในราคาถูก ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนต.ค.- ธ.ค. 2566 โดยมีบริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ยเข้าร่วมโครงการ 26 แห่ง จำนวนปุ๋ย 64 สูตร รวม 144 รายการ มีส่วนลดกระสอบละ 10–50 บาท

“ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตระหนักถึงปัญหาต้นทุนการผลิตของสมาชิกสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวให้แก่ สหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถสั่งซื้อปุ๋ยได้ ผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกแห่ง ทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์จนกว่าสิ้นสุดโครงการ “

วิศิษฐ์  กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากเกษตรกรจำนวนมาก โดยมี ยอดสั่งซื้อปุ๋ย ณ วันพุธที่ 18 ต.ค. 2566 มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสนใจสั่งซื้อทั้งสิ้น 73 แห่ง รวมจำนวน 28,678 ตัน ซึ่งคาดว่าส่วนลดที่จะได้รับจากโครงการมีมูลค่าถึง 11.47 ล้านบาทสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตหรือลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี   สำหรับใช้พื้นที่เกษตรกรรมของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ โดยเฉพาะสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิตพืชหลังนา

     ทั้งนี้ปุ๋ยที่ได้รับความนิยม ส่วนใหญ่เป็นสูตร46-0-0 , 15-15-15 ,16-20-0 เป็นต้น และในตราสินค้าที่มีโฆษณาประชาสัมพันธ์ จัดโปรโมชั่น ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการต้องรีบแจ้งเข้าร่วมโครงการ เพื่อที่สหกรณ์จะจัดโควตาเตรียมไว้

อย่างไรก็ตาม ราคาที่เกษตรกรได้รับ นั้นเป็นราคาหน้าโรงงาน ซึ่งการสั่งซื้อผ่านกลไกสหกรณ์ จะได้รับความสะดวกในการขนส่ง แต่กรณีที่เป็นสหกรณ์รายเล็กไม่มีระบบขนส่งเป็นของตนเองนั้น ในโครงการนี้มีสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยคอยอำนวยความสะดวก ซึ่งสามารถรับบริการผ่านแอปพลิเคชัน ของทางสมาคมได้ ซึ่งมีการกำหนดราคาอัตราค่าขนส่งปุ๋ยตามระยะ พร้อมกับส่วนลด

“สหกรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตรทั้งหมด ดังนั้นเกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าจะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถเลือกซื้อปุ๋ยยี่ห้ออื่นๆได้ในสูตรที่ต้องการ ซึ่งจะประหยัดเงินได้มากกว่า”

หากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพิจารณาขยายโครงการออกไปอีก จากที่โครงการนี้จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2566

ระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในการสัมมนา The Big issue 2023 ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วน ประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร ว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยมีประมาณปีละ 4-5 ล้านตัน ในจำนวนนี้กว่า 95 % เป็นการนำเข้ามูลค่าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทซึ่งกรมวิชาการเกษตรเปิดให้นำเข้าอย่างเสรี แต่ส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา และอิตาลี

ปุ๋ยเคมีมีสัดส่วนการนำไปใช้ในข้าวมากถึง51 % ที่เหลือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนไม้ผลมีสัดส่วนการใช้ประมาณ 5 % 

“ไทยไม่สามารถผลิตปุ๋ยเองได้ ทำให้ได้รับผลกระทบเมื่อราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น ในปี2565 ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย -ยูเครน เป็นผลให้ปริมาณปุ๋ยลดลง การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ความต้องการปุ๋ยเพื่อผลิตสินค้าเกษตรเป็นอาหารมากขึ้น”

ปัจจุบัน แม้สงครามยังมีอยู่ สถานการณ์ปุ๋ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติราคาปุ๋ยเริ่มปรับลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แพงอยู่ เมื่อเทียบราคาก่อนหน้า แต่คาดว่าระดับราคาจะมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวลงเช่นกันประมาณ 40-50 % เมื่อเทียบกับราคาสินค้าในช่วงที่เกิดวิกฤติ

  ความพยายามลดต้นทุนการผลิต จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง และเมื่อได้ปัจจัยการผลิตที่เป็นปุ๋ยที่ีมีคุณภาพก็จะยิ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพเป็นการวางรากฐานทางการตลาดด้วยสินค้าที่ดี และต้นทุนการผลิตที่ดีด้วย