‘แลนด์บริดจ์’ อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน สานฝัน ‘จีดีพีไทย’ โตปีละ 5%?

‘แลนด์บริดจ์’ อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน  สานฝัน ‘จีดีพีไทย’ โตปีละ 5%?

ส่องรายละเอียด "แลนด์บริดจ์" โครงการ 1 ล้านล้าน เปิดให้บริการในปี 2573 คมนาคมเสนอ ครม.เห็นชอบ รายงานผลตอบแทนโครงการละเอียดยิบชี้ช่วยดันจีดีพีโตได้ 5.5% จ้างงาน 2.8 แสนตำแหน่ง

เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมานานจากระดับที่เศรษฐกิจควรจะขยายตัวได้ 4 – 5% ต่อปี มาเหลือระดับ 2 – 3% ต่อปี และบางปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเติบโตของเศรษฐกิจก็จะต่ำกว่า 3% หรือการเติบโตติดลบเหมือนกับที่เคยเจอในสถานการณ์โควิดที่จีดีพีปี 2563 ที่ลบกว่า 6.1%

เป้าหมายการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล โดยตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจที่ 5% ต่อปีเป็นเป้าหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังประกาศว่าจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตเฉลี่ยในระยะ 4 ปีที่เป็นรัฐบาลเติบโตเฉลี่ย5% ต่อปี ซึ่งในปีแรก 2567 การกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท ในวงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาทจะถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่น้อยกว่า 5%

อย่างไรก็ตามการอีดฉีดเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามเป้าหมายถือว่าไม่ใช่การสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รูปแบบที่ได้รับการยอมรับในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่หากมีการนำเอาเม็ดเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถเพิ่มขีดดวามสามารถของประเทศได้ในระยะยาวเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า

โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รัฐบาลปัจจุบันผลักดันได้แก่ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้” หรือ “โครงการแลนด์บริดจ์” ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้เดินหน้าโครงการ

และในการเดินทางไปร่วมประชุม “Belt and Road” ที่ประเทศจีนครั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรีของไทยได้นำเอาโครงการนี้ไปนำเสนอในการประชุมว่าประเทศไทยผลักดัน และได้เชิญชวนเอกชนชาวจีนเข้ามาลงทุนโครงการนี้ในประเทศไทยด้วย โดยโครงการนี้มีขนาดการลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท และจะเริ่มมีการเปิดประมูลโครงการในเดือน เม.ย. 2568 และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.ปี 2573

สำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการนี้ที่ประเทศไทยจะได้รับ ได้แก่

1.ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

2. สนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือของประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค

 3.เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

4.เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โอกาสการจ้างงาน และช่วยลดปัญหาทางสังคมในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแลนด์บริดจ์

ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการตามแนวทางการวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งพิจารณาทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสรุปได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์
มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

  1. มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท
  2. อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35
  3. อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR)  17.43%
  4. ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%
  5. อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR)  8.62%
  6. ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
  7. การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง

รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้จีดีพีของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำไว้ประมาณ 4% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

รูปแบบการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์

รูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ ที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกันประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ ดังนี้

  • ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้านTEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
  • ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
  • เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย 
  • ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร
  • ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)
  • ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ
  • พื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า

และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และโรงแรม เป็นต้น

 รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง และร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ