โครงการ PPP ทางเลือกช่วยยกระดับการลงทุนไทย

โครงการ PPP ทางเลือกช่วยยกระดับการลงทุนไทย

ประเทศไทยต้องยกระดับการลงทุน เพิ่มเสน่ห์ดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติ หากต้องการเติบโตสูงขึ้นอย่างยั่งยืน การลงทุนของไทยต่ำมากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานาน

เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตต่ำลงเหลือไม่ถึง 4% ต่อปี และมีแนวโน้มจะเติบโตต่ำลงต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างการลงทุนในประเทศต่ำอย่างที่เป็นมา เป็นอยู่ และเป็นต่อไปเช่นนี้ 

แล้วประเทศไทยจะเดินหน้ายกระดับการลงทุน สร้างแรงจูงใจเพิ่มการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติให้มากขึ้น พร้อม ๆ กันได้อย่างไร ?

ไทยพึ่งต่างประเทศสูง เน้นบริโภค ลงทุนน้อย

แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกและการบริโภค ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเครื่องยนต์การส่งออกมีบทบาทสูงเกือบ 73% ของ GDP รองมาเป็นเครื่องยนต์การบริโภคภาคเอกชนที่มีบทบาทราว 54% แต่ก็มาพร้อมหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงเกิน 90% ของ GDP ติดอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่เครื่องยนต์การลงทุนกลับมีบทบาทไม่ถึง 1 ใน 4 การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติก็เข้ามาลงทุนในไทยไม่มากนักเทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย

การลงทุนของไทยมีสัดส่วนเกือบ 25% ของเศรษฐกิจ ถือว่าลงทุนน้อย หากเทียบกับประเทศไทยในอดีตจะพบว่า สัดส่วนการลงทุนของไทยตอนนี้ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยสูงเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP อยู่มาก

หากเทียบกับชาติอื่นจะพบว่า สัดส่วนการลงทุนของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ 27.5% ของ GDP ในภูมิภาคนี้ แต่สัดส่วนการลงทุนของไทยลดลงมาใกล้เคียงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

ที่สำคัญทิศทางการลงทุนของไทยทรงตัวในระดับต่ำเช่นนี้มานาน แตกต่างจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย 

ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยลงทุนในประเทศไม่มากนัก สะท้อนจากข้อมูลช่องว่างการออมและการลงทุน (S-I gap) ที่เป็นบวกสูงถึง 8.8% ของ GDP (ข้อมูลปี 2562) ธุรกิจมีเงินเหลือจากความต้องการลงทุนในประเทศ และจัดสรรไปลงทุนนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่าตลาดในประเทศ ขณะที่ภาครัฐกลับมี S-I gap ติดลบ -6.4% ของ GDP การลงทุนเพิ่มทำได้ไม่มาก เพราะงบลงทุนมีจำกัดบนรายได้ภาครัฐที่จัดเก็บได้ลดลงต่อเนื่องและกู้ยืมได้ไม่มาก

โครงการ PPP ทางเลือกช่วยยกระดับการลงทุนไทย

รัฐบาลมีกำลังจัดสรรงบลงทุนเพิ่มแค่ราว 20% ของวงเงินงบประมาณประจำปี ด้านการลงทุนรัฐวิสาหกิจก็เติบโตไม่สูงนัก เพราะงบลงทุนและศักยภาพในการลงทุนเพิ่มทำได้จำกัดในแต่ละปี 

ภาครัฐเริ่มสนับสนุนให้มีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) มากขึ้น ภาครัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมากขึ้น ช่วยลดข้อจำกัดเงินลงทุนของภาครัฐ ลดข้อจำกัดในการกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และลดผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ ภาครัฐสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงให้ภาคเอกชน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยง มีประสิทธิภาพในการลงทุนที่ดีกว่า และเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ได้ดีกว่า ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่มีศักยภาพสูงกว่ารัฐดำเนินการเองทั้งหมด โดยภาครัฐสามารถแบ่งผลประโยชน์กับภาคธุรกิจแล้วแต่ตกลงกันได้ในหลายรูปแบบ 

PPP ทางเลือกยกระดับการลงทุนไทย
น่าสังเกตว่า แม้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนภาครัฐ แต่สัดส่วนการลงทุนในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขอบเขตโครงการ PPP ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในโครงการลงทุนพลังงานไฟฟ้าและการขนส่ง หากดูข้อมูลการดำเนินโครงการ PPP จากอดีตถึงปัจจุบัน และแผนดำเนินงาน PPP ในระยะข้างหน้า เห็นได้ว่า

โครงการ PPP ทางเลือกช่วยยกระดับการลงทุนไทย

1) ข้อมูลจากธนาคารโลก ณ ปี 2565 พบว่า โครงการ PPP ของไทยตลอด 30 ปีที่ผ่านมาเน้นลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าเกือบ 70% โครงการ PPP ของไทยตั้งแต่ปี 2533 มีทั้งสิ้น 185 โครงการ รวมมูลค่า 44.871 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท

ส่วนใหญ่เน้นลงทุนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า (คิดเป็นมูลค่า 30.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 69% ภายใต้ 138 โครงการ) นอกนั้นเป็นการลงทุนด้านโทรคมนาคม และการขนส่ง  

2) แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน ปี 2563 -  2570 (ข้อมูล ณ 19 กรกฎาคม 2566) มีมูลค่ารวม 1.17 ล้านล้านบาท เน้นลงทุนด้านโลจิสติกส์สูงถึง 84% โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางและถนน รองมาเป็นการบริหารจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสีย 14% 

แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยระหว่างรัฐ-เอกชนในระยะข้างหน้ายังเน้นระบบโลจิสติกส์เป็นหลัก แผนการร่วมลงทุนด้านอื่นๆ ที่จำเป็นเช่นกันยังมีน้อย

โดยเฉพาะการลงทุนเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emission) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประกาศไว้

ประเทศไทยยังสามารถปลดล็อคข้อจำกัดยกระดับการลงทุนของประเทศได้อีกมาก ผ่านแผนการลงทุนโครงการ PPP ในระยะยาว ภาครัฐและภาคเอกชนมองเห็นประโยชน์และทำงานร่วมกัน

ภาครัฐตั้งเป้าเดินหน้ายกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในยุทธศาสตร์สำคัญของห่วงโซ่การผลิตโลกในระยะยาว  วางแผนกำหนดทิศทางการลงทุนของประเทศให้ชัด มีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่มีขอบเขตกว้างสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และลดอุปสรรคกฎเกณฑ์ของภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เอกชนที่มีกำลังความพร้อมเข้ามาช่วยภาครัฐลงทุนมากขึ้น 

การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนจะช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นได้ การร่วมกันยกระดับการลงทุนให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเทคโนโลยีสีเขียว มีระบบการบริหารจัดการน้ำพร้อมรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

กลยุทธ์ยกระดับบทบาทการลงทุนในประเทศจะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และกลับมามีเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติได้มากอีกครั้ง ช่วยให้ประเทศไทยมีที่ยืนบนห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสโลกแบ่งขั้วกันอยู่ได้ค่ะ
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด