ใช้เงินแบบไหนถึงเป็นไปตามหลักวินัยทางการคลัง

ใช้เงินแบบไหนถึงเป็นไปตามหลักวินัยทางการคลัง

การกลับมาของนโยบายประชานิยม ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ในการตอบสนองนโยบายดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว  ค่าเงินบาทอ่อนตัว  หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่น่ากังวล และเศรษฐกิจโลกยังลูกผีลูกคน  ไม่รู้ว่าจะทรุดต่อ  ทรงตัว หรือเชิดหัวกลับมาได้

ท่ามกลางปัจจัยลบเหล่านี้  สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ ประเทศคู่ค้า นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ  คือ  จุดยืนที่ชัดเจนด้านวินัยทางการคลัง

มีงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การคลังในระดับประเทศและการเปรียบเทียบระหว่างประเทศส่วนใหญ่ให้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า  การใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลกระทบจะเป็นบวกหรือลบนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ใช้หรือระดับการขาดดุลเพียงอย่างเดียว  ปัจจัยแวดล้อมอื่นก็มีผลเช่นกัน โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจ  คุณภาพ ความโปร่งใส่ และประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณก็มีผลเช่นกัน

เวลาพูดถึงวินัยทางการคลัง  บางคนคิดว่าหมายถึงการที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด  ลดรายจ่ายไม่ให้งบประมาณขาดดุล  ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว  เพียงแต่ว่า  คำจำกัดความแบบนี้ค่อนข้างจะคับแคบเกินไป 

การจะประเมินว่ารัฐบาลไหนมีวินัยทางการคลังหรือเปล่า เราจะต้องเข้าใจถึงลักษณะของรายจ่ายประเภทต่างๆ ของรัฐบาล

โดยปกติแล้ว  นักเศรษฐศาสตร์แบ่งรายจ่ายรัฐบาลออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน  รายจ่ายกลุ่มแรกเป็นรายจ่ายเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน  เช่น  การซื้อปากกาดินสอมาให้ข้าราชการใช้เซ็นเอกสาร  การจ่ายเงินเดือนข้าราชการตอบแทนการที่ข้าราชการให้บริการประชาชนในแต่ละเดือน  รายจ่ายกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเพื่อให้กลไกของรัฐที่มีอยู่สามารถทำงานต่อไปได้

รายจ่ายกลุ่มที่สองเป็นรายจ่ายด้านการลงทุน  เช่น  การสร้างถนนหนทาง  ท่าเรือ  สนามบิน  และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  การลงทุนเหล่านี้ให้ผลตอบแทนกลับมาในรูปของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

ใช้เงินแบบไหนถึงเป็นไปตามหลักวินัยทางการคลัง

เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว  รายได้ของประชาชนและธุรกิจมีมากขึ้น  รัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ขึ้นตามไปด้วย  หากผลตอบแทนที่ได้จากโครงการลงทุนมีมากกว่าต้นทุนที่ลงไปก็ถือว่ารายจ่ายด้านการลงทุนนั้นๆ  คุ้มค่า

รายจ่ายประเภทที่สาม คือการถ่ายโอนเงินโดยมิได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านสังคม  เช่น  การให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ  การให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  เป็นต้น   

หากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว  รายจ่ายประเภทสุดท้ายนี้เป็นการโอนเงินจากผู้เสียภาษีไปให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง  นโยบายในเชิงเงินโอนเหล่านี้เป็นความพยามยามของรัฐที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ  และบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

ด้วยเหตุนี้เอง  การจะประเมินว่านโยบายที่เข้ากลุ่มรายจ่ายประเภทที่สามนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน  เพราะจะคิดแต่ตัวเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้  ผลตอบแทนในเชิงสังคมและจิตวิทยา ซึ่งไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นเงินได้ก็ต้องนำมารวมไว้ด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น  กองทุนหมูบ้านถ้าเอาไปใช้แก้ปัญหาการขาดเงินทุน  ช่วยให้คนในหมู่บ้านมีเงินทุนหมุนเวียนลงทุน  ยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองได้ในระยะยาว  ก็ถือว่าโครงการนี้ประสบผล

หากเอาเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย  แบ่งกันในบรรดาเครือญาติของผู้ใหญ่บ้าน  เผลอๆ เอาไปซื้อของที่ไม่ก่อรายได้  เช่น  ทีวี ไปเที่ยวดูหนังสังสรรค์  ก็มีหวังแต่จะสูญเงินเหล่า

ใช้เงินแบบไหนถึงเป็นไปตามหลักวินัยทางการคลัง

ในความเป็นจริงแล้ว  แต่ละหมู่บ้านมีวิธีการบริหารจัดการเงินไม่เหมือนกัน บางหมู่บ้านก็รุ่ง  บางหมู่บ้านก็ทรงตัว  บางหมู่บ้านหายเข้าป่ากู่ไม่กลับกันเสียแล้ว

ดังนั้น  การจะเหมารวมว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านหรือนโยบายประชานิยมอื่นๆ  คุ้มค่าแต่ไหนต้องดูกันให้ตลอดรอดฝั่ง  เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์  วิธีการบริหารจัดการ  และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งประเมินโดยใช้หลักวิชาการ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง  หากผลปรากฏออกมาว่าโดยรวมแล้วผลเสียมากว่าผลได้  นโยบายประชานิยมนั้นก็ถือว่าไม่คุ้มค่า

ถ้ารัฐยังดื้อดึงคิดทำต่อไป  จะเป็นการสูญเงินรัฐโดยใช่เหตุ  การใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาเท่าที่ควรแบบนี้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าการขาดวินัยทางการคลัง

หากโครงการนั้นก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น   คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป  ก็ถือว่าการใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลเสียต่อวินัยทางการคลังของประเทศ

วินัยทางการคลัง จึงไม่ได้หมายถึงการขี้เหนียวตระหนี่ไม่ยอมจ่ายเงิน  เอาแต่รักษางบประมาณให้สมดุลหรือเกินดุลเสมอไป

วินัยทางการคลังสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราน่าจะหมายถึง  การรู้จักใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์  รู้จักบริหารจัดการเงินให้คุ้มค่า  สร้างผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำ  ไม่เป็นภาระกับประชาชนและประเทศในระยะยาวต่างหาก ถึงจะเรียกว่า รัฐบาลมีวินัยทางการคลัง อย่างแท้จริง