ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข้อถกเถียงใด ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือปากท้องของประชาชน ที่ร้อนแรงไปมากกว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

นโยบายเรือธงของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการกว่า 100 ชีวิตในหลากหลายหน่วยงาน ร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว โดยตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของนโยบายและผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง

ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินแบบให้เปล่าขนานใหญ่แบบครั้งเดียว (Large-scale, one-off cash handout) ครอบคลุมประชากรหลายสิบล้านคนอย่างดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยนั้นซบเซามายาวนาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยนั้นกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไม่ถือว่าอยู่ในขั้นโคม่าจนถึงต้องใช้ยาแรงที่มีราคาแพงกว่า 560,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีอีก 4 ประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในวงสนทนา จึงเป็นที่มาของบทความนี้

ประเด็นแรก ดิจิทัลวอลเล็ตคือกระสุนสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจเป็นเพียงตัวเลขที่ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชนดังที่หวัง

ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

นักเศรษฐศาสตร์รู้จักผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ดีกว่าใคร ไม่ใช่แค่รู้ว่า GDP มีวิธีการคำนวณที่หลากหลาย (ด้านผลผลิต ด้านรายได้ และด้านรายจ่าย) แต่รวมถึงข้อจำกัดของ GDP ในการวัดสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชากร

บ่อยครั้งที่การเพิ่มขึ้นของ GDP ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนา (Growth without development) โดยเฉพาะในกรณีของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเฉกเช่นไทย

ประโยชน์ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน อาจลดน้อยลงหากสาขาการผลิตไม่สามารถดูดซับแรงงานได้ การคำนึงถึงที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Sources of growth) จึงสำคัญไม่แพ้การหมกมุ่นกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน

แม้การเพิ่มขึ้นของ GDP จะเป็น KPI ของรัฐบาล แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพียงเพราะต้องการ Growth ไม่ควรหลงลืมความหยาบของ GDP ในฐานะตัวชี้วัดการทำงานของระบบเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าสำนักใด ไม่ควรคาดหวังให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบของทุกสิ่ง

เพราะผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ในหลากหลายบริบท ชี้ให้เห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น แม้จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ (Necessary but not sufficient) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์รู้ประเด็นเหล่านี้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องเน้นย้ำ (Emphasise) ประเด็นดังกล่าวให้กับสาธารณะ

ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

ประเด็นที่สอง เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติทั้งรายได้ ทรัพย์สิน และการศึกษา และปัญหาดังกล่าวถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ดิจิทัลวอลเล็ตถูกอ้างว่าสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เพราะรวย-จน ต่างได้ประโยชน์เหมือนกันหมด

อย่างไรก็ตาม การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เป็นคนละเรื่องกับการลดความยากจน การกระจายรายได้จะดีขึ้นได้หากมีการใช้นโยบายที่ส่งผลให้มีการจัดสรรทรัพยากรใหม่ อาทิ การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า การให้เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และการเปิดเสรีการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจ้างงาน เป็นต้น

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิมหากประโยชน์ของนโยบายถูกบดบังด้วยต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น จำเป็นต้องเดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อใช้ดิจิทัลวอลเล็ต หรือต้องย้ายทะเบียนบ้านเพื่อให้สามารถใช้ดิจิทัลวอลเล็ตในบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่ทำงานหรือที่อยู่ปัจจุบัน

ประเด็นที่สาม รัฐควรคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ ไทยเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และในมิติอื่น คุณภาพการศึกษา การยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าการค้าโลก

รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังคงต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านไปกับการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยไม่ปรากฏผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ราคาของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในรูปของต้นทุนค่าเสียโอกาสอาจสูงกว่ากรณีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ประเด็นที่สี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ (Credible empirical evidence) นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ราคาแพงเพราะเป็นการแจกเงินจำนวนมาก (เทียบกับการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 200 บาท ถึงจำนวน 50 เดือน)

ดิจิทัลวอลเล็ต: ความหมกมุ่นใน Growth และต้นทุนของความไม่รู้

แต่นโยบายดังกล่าวขาดหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือให้ผลสืบเนื่องไปยังการจ้างงาน การลดความยากจน และปัญหาอื่น ๆ ที่เร่งด่วน

แน่นอนว่าการศึกษาหรือการทดลองการใช้นโยบายแบบนำร่อง (Pilot project) มีต้นทุนทางด้านระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย แต่ต้นทุนดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท โดยที่ไม่มีใครทราบถึงโอกาสของความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบาย  ต้นทุนของความไม่รู้อาจสูงกว่าต้นทุนในการแสวงหาความรู้

Banerjee และ Duflo สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ. 2019 ผู้เขียนหนังสือ “Good Economics for Hard Times” ระบุว่า ความหมกมุ่นในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้นักเศรษฐศาสตร์เดินหลงทิศ คิดผิดทาง และส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจไม่ถูกต้อง การกลับมาทบทวนอาวุธให้ตรงกับเป้าหมายดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมมากกว่าในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาเฉกเช่นไทย