'สุรพงษ์' สั่ง ขบ.เดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดันนโยบายขนส่งถนนสู่ราง

'สุรพงษ์' สั่ง ขบ.เดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดันนโยบายขนส่งถนนสู่ราง

“สุรพงษ์” มอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก สั่งใช้เทคโนโลยีบริการลดค่าใช้จ่ายประชาชน พร้อมกางแผนงบปี 2567 กว่า 4.3 พันล้านบาท ทุ่มลงทุนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า สนองนโยบายรัฐเชื่อมขนส่งทางถนนสู่ราง

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยระบุว่า ภารกิจสำคัญที่ตนได้มอบหมายให้ ขบ.เร่งดำเนินการ คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการใช้บริการของ ขบ. อาทิ การต่อทะเบียนรถยนต์ รวมไปถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น และการแก้ปัญหาลดมลพิษ PM 2.5

ขณะที่ปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มแท็กซี่ และรถจักยานยนต์รับจ้าง โดยให้ ขบ.จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดทันที เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น โดยให้ภาครัฐดูแลรับผิดชอบผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีเงินทุนและเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีในราคาถูกที่สุด สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ส่วนการจัดทำแอปพลิเคชันยืนยันว่ายังคงต้องเดินหน้าเพื่อบริการประชาชน

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารนั้น เบื้องต้นกรมฯ ได้มีการว่ากล่าวตักเตือนคนขับแท็กซี่ที่กระทำผิด และสั่งเข้มให้รักษามาตรฐานการให้บริการประชาชน นอกจากนี้กรมฯ ยังเดินหน้ารองรับแอปพลิเคชันเรียกรถรับจ้างที่ประชาชนสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางได้แล้ว จำนวน 7 ราย

\'สุรพงษ์\' สั่ง ขบ.เดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดันนโยบายขนส่งถนนสู่ราง

ขณะที่แผนดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ขบ. ได้รับการจัดสรรจำนวน 4,300 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการงานบริการด้านขนส่ง รวมถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 2 วงเงิน 649 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผู้พัก 3 ปี (ปี 2566 - 2568) ส่วนปีงบประมาณ 2566 ได้รับจำนวน 3,500 ล้านบาท เบิกจ่ายงบไป 88-89%

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในภูมิภาคต่อเนื่อง 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 4,212 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงราย วงเงิน 2,851 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ งบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 1 วงเงิน 1,300 ล้านบาท และงบก่อสร้างระยะที่ 2 วงเงิน 636 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชนวงเงิน 915 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 ขบ. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่แล้ว ส่วนระยะที่ 2 ผู้รับจ้างเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คาดแล้วเสร็จในปี 2568 ใช้เวลา 3 ปี

สำหรับผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) บริษัท เค.เอ็น.อาร์ กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้เสนอผลตอบแทนเพียงรายเดียว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจร่างสัญญาของอัยการสูงสุด จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ก่อนลงนามกับเอกชนต้นปี 2567 เพื่อให้เอกชนเข้าไปบริหารศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของต่อไป โดยมีอายุสัมปทาน 15 ปี

2.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1,361 ล้านบาท ในส่วนของภาครัฐดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าล่าสุด (เดือน ก.ย.2566) กว่า 25% เร็วกว่าแผน 3% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำ งานถนนและลานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานฐานรากอาคารต่างๆ งานทางลอด (Underpass) สำหรับรถบรรทุกเข้า-ออกโครงการ คาดกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2567 เปิดบริการปี 2568

นอกจากนี้ ขบ. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่า จะเสนอ ครม. ภายในต้นปี 2567 อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้ศูนย์ขนส่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพ ขบ.เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อบูรณาการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าจากการขนส่งทางถนนไปสู่ระบบราง