เศรษฐกิจการลงทุนไทยในกระแสลมโลกเปลี่ยนทิศ

เศรษฐกิจการลงทุนไทยในกระแสลมโลกเปลี่ยนทิศ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสเศรษฐกิจการลงทุนรวมถึงภูมิรัฐศาสตร์โลก ในเอเชียและอาเซียนเอง เปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

1.กระแส China Derisking หรือกระแสสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน รวมถึงวิกฤติโควิด-19 ที่นำมาสู่การล็อกดาวน์ผ่านมาตรการ Zero COVID-19 และทั้งนโยบายรัฐบาล

โดยสงครามเย็นที่ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากจีนถูกตั้งกำแพงภาษี วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีปัญหา และนโยบายรัฐบาลที่เข้มงวดขึ้นผ่านแนวคิด Common prosperity และ Dual Circulation ที่จำกัดธุรกิจที่เติบโตเร็วเกินไป

ภาพเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอลง ทำให้การลงทุนโดยตรงของจีนลดลงแรงจากประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2556 เหลือเพียง 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 (คิดเป็นการหดตัว -10.9% ต่อปีโดยเฉลี่ย (CAGR))

2.กระแสการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบเศรษฐกิจ “Factory Asia model” ที่กลุ่มประเทศในเอเชียผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกันและชาวยุโรป

ช่วยเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองให้กับเอเชียมากขึ้น และทำให้การค้าภายในทวีป (Intra-Asian Trade) กลับมาเพิ่มมากขึ้นจาก 46% ในปี 2533 เป็น 58% ในปีนี้ ซึ่งใกล้กับระดับยุโรปที่ 69%

ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นักลงทุนเอเชีย (ไม่รวมฮ่องกงและสิงคโปร์) เป็นเจ้าของการลงทุนโดยตรงถึง 59% ในภูมิภาคของตนเอง (FDI Stock) จาก 48% ในปี 2553 ในอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนแบ่งการลงทุนโดยตรงจากเอเชียเพิ่มกว่า 10% เป็นระหว่าง 26-61%

ในขณะเดียวกัน การบริโภคในเอเชียที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นน่าสนใจมากขึ้นในฐานะตลาด

เศรษฐกิจการลงทุนไทยในกระแสลมโลกเปลี่ยนทิศ

จากข้อมูลของสำนักวิจัย World Data Lab ระบุว่า จากผู้คน 113 ล้านคนที่คาดว่าจะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกในปีหน้า (ใช้จ่ายมากกว่า 14 ดอลลาร์ต่อวัน) 91 ล้านคนจะอยู่ในเอเชีย 

รายได้ของชาวเอเชียโดยเฉพาะอาเซียนที่สูงขึ้น จะทำให้ 5 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะนำเข้าเพิ่ม 5.7% ต่อปีระหว่างปี 2566-2571 ซึ่งเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

3.กระแสปฏิวัติอุตสาหกรรม ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Thing AI รถยนต์ไฟฟ้า (EV) วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะให้ความหวังในผลผลิตและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และในทางกลับกันก็เป็นแหล่งรายได้ของประเทศผู้ผลิตเช่นกัน

4.การแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนของทุกประเทศโดยเฉพาะอาเซียนเข้มข้นขึ้น ด้วยการที่ทุกประเทศรู้ดีว่า การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ จะเป็นแหล่งรายได้เข้าประเทศ และทำให้ประเทศเจริญเติบโตดีขึ้น ทำให้หลายประเทศในอาเซียนจับกระแสดังกล่าว

ประเทศที่จับกระแสดังกล่าวได้ดีที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์และเวียดนาม ที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) ต่อจีดีพีสูงสุดอย่างต่อเนื่องในเอเชีย

โดยสัดส่วนของสิงคโปร์อยู่ที่ 28.4% เพิ่มจาก 18.7% ใน 10 ปีก่อน (โดยคิดเป็นการเติบโตของ FDI ปีละประมาณ 7%) ขณะที่สัดส่วนของเวียดนามทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 4.3% ต่อจีดีพี และมีเงินทุนไหลเข้าขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 6.7% (เท่ากับค่าเฉลี่ยการเติบโตเศรษฐกิจ)

นอกจากนั้น ประเทศที่มีการเติบโตของ FDI อย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (7.4% ต่อปี) และกัมพูชา (6.9% ต่อปี) ท่ามกลางการเติบโตของ FDI ทั้งอาเซียนที่ 4% ขณะที่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย การลงทุนโดยตรงชะลอตัวลงโดยเฉลี่ยปีละ 1-3% แต่ไทยและเมียนมาหดตัวรุนแรงที่ -6% และ -7.4% ตามลำดับ

 

สาเหตุที่การลงทุนโดยตรงในสิงคโปร์และเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการจับกระแสการลงทุนและอุตสาหกรรมได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ธุรกิจบริการสุขภาพ อุตสาหกรรมการบิน

กรณีของสิงคโปร์ มีจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ทั้งจากข้อตกลงการค้าเสรี เช่น RCEP, CPTPP รวมถึงข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป มีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และมีความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกของ IMD และอันดับ 2 ในอันดับความง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก 

เศรษฐกิจการลงทุนไทยในกระแสลมโลกเปลี่ยนทิศ

นอกจากนั้นยังมีการตั้งอุทยานการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น Changi Business Park, Jurong Industrial Estate, Seletar Aerospace Park อันเกิดจากการขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเล และขยายจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านการเงิน การขนส่ง และอุตสาหกรรมขั้นสูงต่อเนื่อง

ในส่วนของเวียดนาม มีจุดเด่นในด้านการลงทุนที่สนับสนุนการลงทุน ทั้งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรที่อายุน้อย ค่าจ้างไม่แพง มีทักษะ มีเสถียรภาพทางการเมือง

ขณะที่รัฐบาลเน้นการปฏิรูปและเปิดเสรีเศรษฐกิจ มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ รวมถึงมีข้อตกลงทางการค้ากับนานาชาติ รวมถึงมีจุดเด่นด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นฐานการผลิตสำคัญให้กับซัมซุง

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็มีความน่าสนใจในการลงทุนโดยตรงเช่นเดียวกัน โดยในฟิลิปปินส์ ดึงจุดเด่นจากการเป็นศูนย์ Outsource ที่สำคัญ จากประชากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ ขณะที่ในมาเลเซียเน้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IT และดิจิทัล

เห็นได้จากการไหลเข้าของ FDI จำนวนมากในธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ตัวอย่างหนึ่งของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนมหาศาลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซียก็คือ Intel และ Infineon ที่มีโรงงานผลิตหลายแห่ง ผลิตผลิตภัณฑ์หลายประเภทรวมถึงไมโครโพรเซสเซอร์ ชิปเซต และผลิตภัณฑ์การสื่อสารไร้สาย รัฐบาลได้จัดตั้ง Kulim Hi-Tech Park ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะ

เศรษฐกิจการลงทุนไทยในกระแสลมโลกเปลี่ยนทิศ

ขณะที่อินโดนีเซียได้เน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยได้ประโยชน์จากแหล่งแร่ธาตุหายาก โดยเฉพาะนิกเกิลและโคบอลต์จำนวนมากและเหมาะกับการผลิตแบตเตอรี่

รวมถึงสัดส่วนรถยนต์ต่อจำนวนประชากรที่มีระดับต่ำและสามารถขยายตลาดได้สูง โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้พบปะ Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla ในปี 2565 พยายามโน้มน้าวให้ตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย

เหล่านี้คือกลยุทธ์ของประเทศในอาเซียน ที่จับกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้และพร้อมจะเติบโตต่อเนื่อง แล้ว “ประเทศไทย” จะอยู่รอดในกระแสลมที่เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง.