กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น "จำเป็น" จริงหรือ?

กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น "จำเป็น" จริงหรือ?

แม้เวลาจะผ่านไปไม่นาน ที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน และพยายามจะผลักดันนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ให้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปอย่างถ้วนหน้า และกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 560,000 ล้านบาท ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว 

การแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภค เป็นการใช้มาตรการทางการคลังระยะสั้น ยังมีข้อกังขาอยู่มากถึงประสิทธิผลของมาตรการลักษณะนี้ โดยอาจไม่ได้ส่งผลระยะยาวที่จะให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานได้มากนัก

เพราะตัวทวีคูณทางการคลังที่คาดหวังจะให้เกิดการใช้จ่ายหลายรอบจากเงินที่แจกไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจยังไม่เป็นที่ประจักษ์ 

การให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในการจัดการกับปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญมากกว่า 

การที่โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีงบประมาณสูงมากกว่าร้อยละ 15 ของฐานงบประมาณรายจ่ายเดิม และยังไม่มีความชัดเจนของแหล่งเงินว่ามาจากแหล่งใด โดยหากเป็นการกู้ยืมเพื่อแจกจะเป็นภาระทางการคลังต่อเนื่อง 

ในขณะที่มาตรการอาจไม่สร้างรายได้เพื่อการชำระหนี้ในอนาคต หรือหากใช้มาตรการกึ่งการคลัง ด้วยการขยายเพดานการใช้เงินของหน่วยงานรัฐแทนการกู้ยืม เพื่อเลี่ยงภาระหนี้สาธารณะ อาจแสดงถึงความไม่โปร่งใสในการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้

 

กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น \"จำเป็น\" จริงหรือ?

ในสภาวะปัจจุบันที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีความ “จำเป็น” อีกมาก ในการจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อเศรษฐกิจยุคใหม่และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งควรเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลและเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการและขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยโดย IMD ปี 2022 ไทยมีแนวโน้มการแข่งขันด้านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านการค้าระหว่างประเทศลดลง 

รัฐบาลควรเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านเหล่านี้ให้ดีขึ้น และเร่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในภาพรวม

การดูแลสวัสดิการแรงงาน การพัฒนาผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มทักษะแรงงาน ให้แรงงานได้รับการพัฒนาทักษะตอบสนองต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างเท่าทัน รัฐบาลต้องเข้าไปมีส่วนในการจัดสวัสดิการร่วมกับผู้ประกอบการ เชื่อมโยงกับสวัสดิการสังคมรูปแบบต่างๆ

กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น \"จำเป็น\" จริงหรือ?

เช่น การจัดให้มีการระบบสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากการที่แรงงานต้องออกจากงาน เพื่อดูแลบิดามารดาสูงอายุ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้ 

การพัฒนาแรงงานควรมุ่งเสริมทักษะให้คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ให้มีความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพิ่มพูนทักษะความเป็นผู้ประกอบการผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ เน้นให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

โดยภาครัฐต้องเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา และภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะทางด้านดิจิทัล และทักษะทางสังคม (Soft Skills) ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะหลักของแรงงานในภาคส่วนต่างๆ

ระบบสวัสดิการทางสังคมเพิ่มขึ้นรองรับสังคมสูงวัย ทั้งหลักประกันสุขภาพ หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน สวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงระยะยาว สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมและปลอดภัยในที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุและคนทุกกลุ่ม

นอกจากนั้นยังต้องมุ่งพัฒนาบุคลากรและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งบุคลากรวิชาชีพและอาสาสมัครด้วยการให้บริการแก่ผู้สูงอายุในชุมชน โดยเฉพาะบริการด้านการดูแลและการฟื้นฟูสุขภาพให้กับกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงและมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการสร้างและพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ 

กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น \"จำเป็น\" จริงหรือ?

หากมีนโยบายที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะแรงงาน มีกลไกส่งเสริมและจูงใจในการพัฒนาและเร่งขยายการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาความรู้ และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุให้ทันต่อความต้องการ จะเป็นมาตรการที่จะช่วยเร่งการพัฒนาแรงงานที่สอดรับกับความต้องการของตลาดได้

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีสวัสดิการสังคมที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการที่ควรได้รับการพิจารณาและจัดให้มีเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อย่างสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และศูนย์บริการเด็กเล็กใกล้บ้าน เพื่อจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และสนับสนุนการสร้างครอบครัวและพัฒนาคนเพื่อการพัฒนาประเทศ

 จะเห็นได้ว่า นโยบายสาธารณะของประเทศยังมีภาระค่าใช้จ่ายทางการคลังอีกมากที่จะเกิดขึ้น การมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ใช้งบประมาณจำนวนมาก และไม่มีความชัดเจนถึงประสิทธิผลของนโยบาย โดยมิได้ปรับโครงสร้างหรือเชื่อมโยงกับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร

อาจทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ ที่มุ่งให้เกิดการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 

หากรัฐบาลมุ่งใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมไปในเรื่องที่จำเป็น และเร่งการใช้จ่ายให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ย่อมจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้เช่นเดียวกัน.