กระตุ้นเศรษฐกิจ ‘ทำมาก ได้น้อย’ ไม่ผิดถ้าจะทบทวนใหม่

กระตุ้นเศรษฐกิจ ‘ทำมาก ได้น้อย’ ไม่ผิดถ้าจะทบทวนใหม่

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายแจกเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผลจริงหรือไม่ เมื่อต้องเทียบกับงบประมาณจำนวนมากที่ต้องเสียไป

เข้าใจว่ารัฐบาลหวังดีและเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่ง “ฟื้น” เศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน จึงออกนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งใช้เงินงบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ด้วยหวังว่าเงินจำนวนนี้จะสร้าง “พายุทางเศรษฐกิจ” ทำให้เงินหมุนเข้าระบบ กระตุ้นให้เกิดการบริโภค เกิดการผลิต ช่วยหมุนเศรษฐกิจได้ถึง 4 รอบ หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 2 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วง 4 ปีข้างหน้าเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 5% และผลที่ตามมา คือ รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นตามไปด้วย

เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยชีวิตกลับไม่ได้มองภาพเดียวกันกับรัฐบาล โดยห่วงว่านโยบายนี้กำลังจะสร้าง “มรสุม” ใหญ่ทางเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เพราะนโยบายดังกล่าวมีลักษณะหว่านแหไม่เฉพาะเจาะจง แถมมีต้นทุนสูง ที่สำคัญยังเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือเชิงศักยภาพในระยะยาว ดูแล้วจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และฐานะการคลังของไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนแต่ก่อนแล้วด้วย

ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงราวๆ 62% ของจีดีพี เทียบกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาด้วยกันแล้ว ต้องบอกว่าไทยติดอยู่ในกลุ่มต้นๆ เช่น เวียดนามมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ราวๆ 37% อินโดนีเซียประมาณ 38% ฟิลิปินส์ 61% และมาเลเซีย 63% ในขณะที่ศักยภาพการหารายได้ของไทยกลับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดมีสัดส่วนต่อจีดีพีต่ำเพียง 13-14% เท่านั้น ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่ควรต้องจัดเก็บได้ในระดับ 16-18% ต่อจีดีพี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยชีวิตร่วมกันลงนามคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีงานวิจัยของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรออกมา เป็นงานวิจัยที่ถูกพูดถึงกันค่อนข้างมากเพราะวิเคราะห์ถึงการที่รัฐบาลกำลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งการแจกเงิน การอุดหนุนราคาพลังงาน และการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ใช้ต้นทุนมหาศาล เรียกว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้แสดงความเป็นห่วงชัดเจนว่า ผลที่ได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่อาจได้กลับมาไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสียออกไป

งานวิจัยชิ้นนี้ รวบรวมผลศึกษาจากทั้งไทยและต่างประเทศ ดูเรื่องการหมุนของเงินจากมาตรการแจกเงิน ซึ่งพบว่า การแจกเงินทั่วไปมีผลต่อเศรษฐกิจต่ำกว่า 1 เท่า โดยงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ อาจมีผลช่วยกระตุ้นจีดีพีได้เพียง 1% เท่านั้น จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึง 3.6% ของจีดีพี และยังเสี่ยงทำให้หนี้สาธารณะไทยพุ่งแตะ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินไว้จริง คงต้องบอกว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลอาจเป็นมาตรการที่ “ทำมากแต่ได้น้อย” จริงๆ ก็คงไม่ผิดถ้ารัฐบาลจะหยิบนโยบายนี้มาทบทวนใหม่ว่าสมควรทำจริงหรือไม่!