'ครม.' ตีกลับคำขอฯงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯ 7 พันล้าน

'ครม.' ตีกลับคำขอฯงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯ 7 พันล้าน

ครม.ตีกลับ งบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯปี 67 7 พันล้าน อ้างภารกิจซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษา สั่งให้กลับไปทำรายละเอียดมาใหม่

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กองทุนเพื่อความเสนอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กลับไปทบทวนข้อเสนอการของบประมาณประจำปี 2567 วงเงิน  7,094.97 ล้านบาทใหม่ เนื่องจากมองว่าภารกิจอาจซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ กสศ.ได้เสนอของบประมาณปี 2567 โดยแผนการใช้เงินมีทั้งสิ้น9 แผนงาน วงเงินรวม 7,094.97 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 เป็นจำนวนเงิน 1,021 ล้านบาท แต่การขอมาในครั้งนี้เป็นการขอมาเป็นแบบฉบับทบทวน โดยมีการถกเถียงและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมฯ

 

โดยแผนงาน 2 แผนงานที่ กสศ.เสนอมาและ ครม.ตั้งข้อสังเกตให้มีการกลับไปทบทวนได้แก่ แผนงานที่ 2 การสร้างความเสมอภาคให้แก่การศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยและการศึกษาภาคบังคับ เช่น การพัฒนาระบบคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจนแบบมีเงื่อนไข ซึ่งแผนงานนี้มีการขอมา 4448.96 ล้านบาท

และแผนงานที่ 6 การสนับสนุนการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ เช่น การสนับสนุนเยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่อง โดยมีวงเงินที่เสนอมาประมาณ 1,025 ล้านบาท

\'ครม.\' ตีกลับคำขอฯงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฯ 7 พันล้าน

“ที่ประชุม ครม.มีการตั้งคำถามมาแล้วจะไปซ้ำซ้อนกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในระดับปฐมวัยและการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งกระทรวงศึกษาได้งบฯไปหลายแสนล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งข้อเสนอให้ทบทวนนั้นมีมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลนี้ก็มองว่าต้องมีการทบทวน ดังนั้นในที่ประชุมให้เอาข้อสังเกตจาก ครม.ว่างบประมาณที่ขอมามีความซ้ำซ้อนกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาหรือไม่ ที่ประชุมฯจึงให้นำข้อเสนอกลับไปแล้วนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง”นายชัย กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้รับทราบข้อเสนอ และยืนยันว่า รัฐบาลจะสนับสนุน กสศ. อย่างเต็มที่ 
โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ระบุในช่วงการหารือกับนายกฯ ว่า ในการทำงานที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามหาทางป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ 


โดยฐานข้อมูลจากการสำรวจติดตามเด็กพบว่าในแต่ละปี จะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยหรือคิดเป็นประมาณ 13% เท่านั้น 
ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเด็กได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างช่องทางหนุนเสริมแนวทางการดูแลเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ยั่งยืนได้

ดร.ประสาร ระบุว่า กสศ. เข้าใจเรื่องข้อจำกัดด้านการคลังของประเทศ โดยในปี 2565 กสศ. มีงบประมาณราว 6,000 ล้านบาท พร้อมข้อมูลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 
ดังนั้น กสศ. จึงเสนอของบประมาณเพิ่มเติมไปที่ 7,000 กว่าล้านบาท แต่ได้ถูกตัดไป ซึ่งเงินที่ขาดไปราว 1,900 ล้านบาท กสศ. จึงตั้งใจแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรมาเพิ่มและหาช่องทางระดมในทุกทาง เช่นมาตรการด้านเงินบริจาคต่อไป