เปิด 2 เหตุผลหลัก ดันราคา 'LNG' ตลาดโลกพุ่ง

เปิด 2 เหตุผลหลัก ดันราคา 'LNG' ตลาดโลกพุ่ง

"สนพ." เผย ราคา Spot LNG ตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 14.271 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูจาก 2 ปัจจัยหลัก "สภาพอากาศ-แหล่งผลิต"

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร หรือ Spot LNG ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 พบว่า ราคา Spot LNG เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.104 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 14.271 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีความต้องการ LNG เพื่อสำรองใช้ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง 2. สหภาพแรงงานที่โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของบริษัท Chevron ประเทศออสเตรเลีย ในโครงการกอร์กอนและวีทสโตน (Gorgon and Wheatstone) ได้ยกระดับการประท้วงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2566 จนกระทั่ง Fair Work Commission เข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย จึงสามารถยุติลงได้ในวันที่ 22 กันยายน 2566 

นอกจากนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติ Troll ปริมาณการผลิต 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ของประเทศนอร์เวย์ได้ขยายเวลาหยุดซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีรายงานว่าสามารถกลับมาเริ่มดำเนินการผลิตได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) พบว่า ราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool) เดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.5057 บาทต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 333.4681 บาทต่อล้านบีทียู จากราคานำเข้า LNG ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงราคา Spot LNG เฉลี่ยเดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.4027 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 12.6237 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากความต้องการของประเทศในแถบเอเชียเพิ่มสูงขึ้นหลังเผชิญภาวะคลื่นความร้อน (Heat wave) อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศทั่วโลกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความต้องการพลังงาน เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าในการเปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อน และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงหน้าหนาว

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) (สถานีภายในรัศมี 50 กม. จากสถานีแม่) ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2566 สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล อยู่ที่ 19.59  บาทต่อกิโลกรัม รถแท็กซี่ อยู่ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม รถโดยสารสาธารณะ อยู่ที่ 18.59 บาทต่อกิโลกรัม และสำหรับสถานีลูกที่อยู่ไกลสถานีแม่มากที่สุด (ไม่รวมภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด) อยู่ที่ 23.59 บาทต่อกิโลกรัม  

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปริมาณการจำหน่ายก๊าซ NGV ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 3,279 ตันต่อวัน (หรือประมาณ  135.55 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ทั้งนี้ มีสถานีบริการที่ยังเปิดให้บริการทั้งหมด 330 สถานี แบ่งเป็น สถานีแม่ 18 สถานี สถานีลูกและสถานีแนวท่อ 312 สถานี