EA เตรียมยื่นนายกฯ รื้อประมูล รับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนเฟส 2

EA เตรียมยื่นนายกฯ รื้อประมูล รับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนเฟส 2

“อีเอ” เตรียมยื่นนายกฯ ทบทวนประมูลซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 อีก 3 พันเมก ชี้กำหนดเงื่อนไขกีดกันผู้ฟ้องศาลยื่นประมูล ร้องให้ทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ กกพ.ประชุมด่วน 4 ต.ค.นี้ หลังศาลมีคำสั่งทุเลาประกาศรายชื่อผู้ผ่านอุทธรณ์ไร้ชื่อบริษัทลูกของอีเอ

การประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง 5,000 เมกะวัตต์ เกิดข้อขัดแย้งที่ทำให้มีการยื่นเรื่องเข้าสู่ศาลปกครองหลายคดี

ล่าสุดศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2566 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี คือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ต่อคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศสำนักงาน กกพ.เรื่องรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ลงวันที่ 10 มี.ค.2566 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวออกตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ออกตามมติกกพ.ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 (ครั้งที่ 841) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 และไม่มีรายชื่อของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผ่านการพิจารณาและได้อุทธรณ์ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นอกจากนี้ การคัดเลือกดังกล่าวไม่ได้ประกาศเกณฑ์การให้คะแนน และเกณฑ์ให้คะแนนเทคนิคขั้นต่ำผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) หรือเกณฑ์คะแนนคุณภาพ การให้น้ำหนักคะแนนมาก-น้อย ที่ใช้ในการคัดเลือก จึงอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีความโปร่งใสและยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้และจะผูกพันไปตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า โดยไม่อาจจะแก้ไขอย่างใดได้อีกตลอดระยะเวลา25 ปี อันเป็นความเสียหายที่มิอาจเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง

“จากคำสั่งศาลปกครองในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กกพ.ควรกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เสนอขายไฟฟ้า ที่มีวิธีการ และเงื่อนไขการให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการลักษณะดังกล่าวในอนาคต” นายสมโภชน์ กล่าว

เสนอเลื่อนลงนามผู้ชนะประมูล

ทั้งนี้ การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.2566 มองว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น 

ขณะที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบันมีมากกว่า 30% จึงไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงอันเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าสำรองซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

นายสมโภช กล่าวว่า ขณะนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีอยู่ล้น ส่วนผู้ผลิตเองก็มีคนอยากทำมากจึงควรใช้รูปแบบการประมูลราคาแทนที่จะกำหนดราคาตายตัว เพื่อให้เกิดการแข่งขันต้นทุนที่ถูกที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

รายงานข่าวระบุว่า อีเอและบริษัทในเครือได้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ทั้งสิ้น 20 โครงการ เป็นโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม รวม 2,000 เมกกะวัตต์ โดยมีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกเพียง 1 โครงการพลังงานลม ขนาด 90 เมกกะวัตต์

เตรียมยื่นนายกฯ ชะลอประมูลเฟส 2

นายสมโภชน์ กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมทำหนังสือถึง กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขอความคิดเห็นและพิจารณาโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง 3,668.5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 

1.โซลาร์ฟาร์ม 2,632 เมกะวัตต์ จากรอบแรกที่รับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ จากรอบแรกรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ 

2.ก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ รอบแรกไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติ และขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์จากรอบแรกเปิดรับ 200 เมกะวัตต์ แต่มียอดรับซื้อที่ 100 เมกะวัตต์ จึงจะเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์รวมเป็น 130 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 จะใช้ระเบียบเดียวกันของ กกพ.ในการรับซื้อไฟฟ้า (ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20-25 ปี) ซึ่งศาลปกครองเห็นว่าประกาศเชิญชวนในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง มติ กพช.ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า ผู้ยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบกกพ. และประกาศเชิญชวน ซึ่งหมายความรวมถึง กพช. , กกพ.และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

“ประเด็นข้างต้นมติ กพช.ถือเป็นการจำกัดสิทธิของบริษัทเอกชนที่ใช้สิทธิอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับถูกตัดสิทธิเข้าร่วมซื้อขายไฟฟ้าเฟสที่ 2 และอาจหมายรวมถึงอีเอกรุ๊ปทั้งหมดด้วย” นายสมโภชน์ กล่าว

พลังงานชี้ “อีเอ” ใช้ที่ดินผิดเงื่อนไข

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อนโยบายพลังงานตามแผนพลังงานแห่งชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) มากน้อยแค่ไหน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการประมูล

“กกพ.ยืนยันว่าการประมูลเฟส 1 ถูกต้องโปรงใสและเป็นธรรม ซึ่งประเด็นหลัก EA ไม่ผ่านพิจารณาในขั้นตอนแรก คือ เป็นการเช่าพื้นที่ สปก.ซึ่งตกการพิจารณาในเรื่องที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ ซึ่งกรณีที่ดินถือว่าสำคัญเพราะที่ผ่านมามีปัญหาให้หลายโครงการล่าช้า โดยวันที่ 4 ต.ค.2566 บอร์ด กกพ.จะหารือเรื่องนี้ โดยขั้นตอนถือว่าอยู่ในชั้นศาลจึงต้องให้ผู้ถูกฟ้องพิจารณาตามขั้นตอน”

ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยันว่าดำเนินตามขั้นตอนการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ.ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก 175 ราย ปริมาณเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์แบ่งเป็น

1.พลังงานลม ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 20 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,474.20 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) 2 ราย ปริมาณเสนอขาย 16.00 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,490.20 เมกะวัตต์

2.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) : ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 24 ราย ปริมาณเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์

3.พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 39 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,877.96 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) 90 ราย ปริมาณเสนอขาย 490.04 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,368.00 เมกะวัตต์

4.เชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม 13 ราย รวม 100 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยทั้ง 3 การไฟฟ้าฯอยู่ขั้นตอนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะทำสัญญาทีละรายหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับแต่ละการไฟฟ้า

ชง “พีระพันธุ์” เคาะเงื่อนไขประมูลเฟส 2

ทั้งนี้ การประมูลเฟส 2 จะใช้ระเบียบเดียวกับการรับซื้อในเฟสที่ 1 หรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขตัดสิทธิ์กรณีผู้ยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบ กกพ.

ทั้งนี้ อาจต้องให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้พิจารณาเพราะการเปิดรับซื้อดังกล่าว กกพ.ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล

สำหรับมติ กพช.วันที่ 9 มี.ค. 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน กพช.มีมติเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) 3,668.5 เมกะวัตต์