พาณิชย์ปักธงปิดดีล 3 เอฟทีเอ EFTA – UAE-ศรีลังกา

พาณิชย์ปักธงปิดดีล 3 เอฟทีเอ  EFTA – UAE-ศรีลังกา

พาณิชย์ ประกาศปักธงปิดดีล 3 เอฟทีเอ EFTA – UAE-ศรีลังกา ไม่เกินกลางปี เจาะตลาดการค้าอาหรับ ยุโรปเอเชียใต้ เผยมีมูลการค้าใหญ่กว่า 1 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งเจรจาเปิดความตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้สำเร็จโดยเร็ว ทั้งเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเจรจาอยู่ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดกรอบเจรจาเอฟทีเอใหม่ ๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และขยายตลาดการค้า การลงทุนให้ไทยกับประเทศคู่เจรจา โดยถือเป็นสิ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและกำชับให้ดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วนของกระทรวง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภายในไม่เกินกลางปีหน้า กรมฯตั้งเป้าหมายเจรจาเอฟทีเอให้สำเร็จ 3 ฉบับ ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  เอฟทีเอ ไทย-ศรีลังกา  และเอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) โดยทั้ง 3 ตลาดมีความสำคัญ และมีมูลค่าการค้ากับไทยรวมกันมากถึงปีละ 31,000 ล้านดอลลาร์ หรือ มากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยเอฟทีเอไทย-ยูเออี จะเป็นฉบับแรกที่เจรจาจบ โดยขณะนี้ผ่านการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ คาดจะสรุปจบได้ในปี 66 

ทั้งนี้ ตลาดยูเออี มีกำลังซื้อสูงมาก จากทั้งชาวเอมิเรตส์ แรงงานต่างชาติ และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีทำเลที่ตั้งพร้อมเป็นศูนย์กลางโลจิกติกส์ที่จะช่วยกระจายสินค้าของไทยให้มีแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง โดยผลการศึกษาพบว่า เอฟทีเอจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 11,194 -12,567 ล้านบาท  ทำให้การส่งออก ของไทยไปยูเออีเติบโตขึ้น 21,609–30,126 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สาขาบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น

ส่วนเอฟทีเอที่คาดว่าจะสำเร็จต่อมา  เอฟทีเอไทย-ศรีลังกา ขณะนี้ผ่านการเจรจามาแล้ว 6 รอบ โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาในต้นปี 67 ซึ่งศรีลังกาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของมหาสมุทร อินเดียที่เชื่อมเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวมทั้ง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันผู้ประกอบการไทยในตลาดเอเชียใต้ รวมทั้งใช้ศรีลังกาเป็นฐานการผลิตสินค้า กระจายไปสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป 

ผลศึกษายังพบว่าจะช่วยเพิ่มจีดีพีอีก 4,130 ล้าน บาท และการลงทุนของไทยในศรีลังกาเพิ่มขึ้นปีละ 1,912 ล้านบาท  โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะขยายตลาดได้ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก และอุตสาหกรรมที่จะลงทุนในศรีลังกา เช่น อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ เป็นต้น

ส่วนฉบับสุดท้ายเป็นเอฟทีเอไทย- เอฟตา โดยได้เจรจากันไปแล้ว 6 รอบ และตั้งเป้าหมายสรุปผลช่วงกลางปี 67  ซึ่งจะเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง  ช่วยยกระดับความสามารถการ แข่งขันของไทย ดึงดูดการลงทุน และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์

โดยเฉพาะสาขาเอฟตาที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น เกษตรและอาหาร  ข้าว ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป และอาหารสุนัขและแมว ผลไม้เมืองร้อน แป้ง น้ำมันพืช ไก่แปรรูป น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ เส้นก๋วยเตี๋ยว ผักและผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่กลุ่มบริการที่จะได้ประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยว การเงิน โทรคมนาคม การแพทย์/สุขภาพ พลังงานสะอาด ด้านวิชาชีพ