'คมนาคม' เขย่าแผนรถไฟฟ้าภูเก็ต คาดดีเลย์อีก 2 ปี

'คมนาคม' เขย่าแผนรถไฟฟ้าภูเก็ต คาดดีเลย์อีก 2 ปี

“คมนาคม” ปรับแผนสร้างรถไฟฟ้าแทรมภูเก็ต 3.3 หมื่นล้านบาท สั่ง รฟม.ทบทวนกลับมาใช้ระบบล้อเหล็ก พร้อมรอประเมินจุดตัดบนถนนทางหลวง กระทบแผนดีเลย์อีก 2 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยืนยันว่ายังคงเดินหน้าพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการเชื่อมต่อเส้นทางจากท่าอากาศยานภูเก็ตเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

แต่ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายทางถนนและทางพิเศษ (มอเตอร์เวย์) ดังนั้นขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับแผนดำเนินโครงการแทรมภูเก็ตให้สอดคล้อง

อย่างไรก็ดี จากนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางถนนและมอเตอร์เวย์ให้แล้วเสร็จนั้น จะทำให้ รฟม. มีระยะเวลาทบทวนรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าแทรมภูเก็ต เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งเป้าหมายหลักของการทบทวนรายละเอียดโครงการ เพราะกระทรวงฯ ต้องการให้ รฟม.พิจารณากรณีจุดตัดบนถนนทางหลวงว่าจะดำเนินการอย่างไร

อีกทั้งหากสร้างโครงการทั้งหมดพร้อมกัน จะทำให้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ตยิ่งติดขัดมากขึ้น โดยเฉพาะบนถนนทางหลวงหมายเลข 402 ที่ปัจจุบันมีการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว และจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ รฟม.ศึกษาความเหมาะสมของระบบรถไฟฟ้าแทรมที่จะนำมาใช้ โดยเบื้องต้น รฟม. เสนอใช้ระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก ที่มีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ เป็นรูปแบบที่มีการใช้งานแพร่หลาย แต่เนื่องจากปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมกับภาคเอกชน ในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train อยู่ จึงมอบโจทย์นี้ให้ รฟม. ไปพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ รฟม.พิจารณาเรื่องปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งมีความกังวลไม่อยากให้มีราคาแพงเกินไป เพราะรถไฟฟ้าแทรมสายนี้จะเกิดประโยชน์มากหากประชาชนหันมาใช้บริการ เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจร

อีกทั้งจะเกิดประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้จะอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

“ตอนนี้ได้ย้ำกับทาง รฟม.ไปว่า รถไฟฟ้าสายนี้ต้องมีราคาที่เหมาะสม ส่วนแนวเส้นทางนั้น ยังคงเป็นเส้นทางเดิมทั้งหมด แต่ต้องมีการปรับจราจรในจังหวัดภูเก็ตควบคู่ แต่ถือว่าตอนนี้ยังมีเวลา 2 ปี ในการศึกษาทำแผนให้รอบคอบ”

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รูปแบบระบบรถไฟฟ้าแทรมภูเก็ต เบื้องต้นศึกษาจะใช้รูปแบบแทรมล้อเหล็ก โดยใช้ระบบรางแบบ Steel rails and Switch rail ส่วนประเด็นจุดตัดบนทางหลวงต่างๆ จะพัฒนาเป็นรูปแบบทางลอดใต้ถนนผ่านบริเวณพื้นที่ที่สำคัญ ซึ่งตอนนี้ รฟม.ต้องรอให้การพัฒนาทางหลวง และมอเตอร์เวย์ต่างๆ ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถประเมินได้ว่าต้องมีจุดตัดกี่แห่ง ซึ่งยังมีเวลาในการศึกษารายละเอียดให้รอบด้านตามกรอบกำหนด 2 ปี