1 ธ.ค.นี้ ดีเดย์สายสีม่วง 20 บาท รฟม.เปิดเงื่อนไขส่วนลดเชื่อมรถไฟฟ้าสายอื่น

1 ธ.ค.นี้ ดีเดย์สายสีม่วง 20 บาท รฟม.เปิดเงื่อนไขส่วนลดเชื่อมรถไฟฟ้าสายอื่น

บอร์ด รฟม. เคาะหั่นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือสูงสุด 20 บาท เตรียมเสนอ "คมนาคม" ดันเข้า ครม. ดีเดย์ใช้ 1 ธ.ค.นี้ คาดสูญรายได้ 190 ล้านบาทต่อปี

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (28 ก.ย.) โดยระบุว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติเห็นชอบกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สูงสุด 20 บาท ปรับลดจากเดิมมีอัตรา 14 - 42 บาท โดยจะมีผลใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป อีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าจากสายสีม่วงไปสู่รถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยยกเว้นค่าแรกเข้า และคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท

ทั้งนี้ รฟม. เตรียมนำมติบอร์ดฯ ที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งหากมีการใช้อัตราค่าโดยสารดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสารที่มีเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท

อีกทั้ง คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100 - 200 คนต่อวัน

1 ธ.ค.นี้ ดีเดย์สายสีม่วง 20 บาท รฟม.เปิดเงื่อนไขส่วนลดเชื่อมรถไฟฟ้าสายอื่น

ส่วนในเรื่องของการแบ่งรายได้ จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง หากผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.ก็จะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนนั้นไป แต่หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง ร.ฟ.ท.จะได้รายได้ในส่วนนั้น โดยทั้งหมดนี้ผู้โดยสารจะต้องใช้จ่ายบัตรผ่านเครดิต หรือเดบิต (EMV) ไม่สามารถใช้จ่ายผ่านเงินสด ระบบเหรียญ หรือบัตรโดยสารของรถไฟฟ้าแบบเฉพาะแต่ละโครงการได้ ส่วน รฟม.จะต้องชดเชยรายได้ที่สูญไปเป็นระยะเวลากี่ปีนั้น เบื้องต้นขอพิจารณาการดำเนินงาน 1 ปีหลังจากนี้ก่อน แต่หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 17% ต่อปี ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ถึงจะคืนทุน โดยไม่ต้องชดเชยรายได้

ในส่วนของรายได้ที่ รฟม.จะนำมาชดเชยนั้น จะเป็นรายได้จากเงินที่เคยนำส่งกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรายได้ส่วนแบ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยสถิติที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง อยู่ที่ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ แบ่งเป็น ปี 2563 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 300 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 467 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 311 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 223 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าในปี 2567 รฟม.จะนำเงินส่งกระทรวงการคลังลดลง เพราะต้องนำเงินมาบริหารสายสีม่วง 

1 ธ.ค.นี้ ดีเดย์สายสีม่วง 20 บาท รฟม.เปิดเงื่อนไขส่วนลดเชื่อมรถไฟฟ้าสายอื่น

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม. ได้มีการหารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ซึ่งทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคนาคม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของบอร์ด รฟม. มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ 1. กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน สูงสุด  42 บาท) ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ (05.30 น. – 24.00 น.) ทั้งนี้ เด็ก/ผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน/นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่

2. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ผู้โดยสารยังคงได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบในอัตราปัจจุบัน

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) (ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.) กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน

4. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ผู้โดยสารจะได้รับส่วนลด เมื่อเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟม. ยังอยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมในภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ก่อนกำหนดวันเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองโดยสารฟรี และกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่ง รฟม. จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ชัดเจนให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป