'PCA ไทย-อียู' อาจหนุนการค้าไทย-ยุโรปโต เอกชนแนะรัฐบาลทวนข้อตกลงให้รอบคอบ

'PCA ไทย-อียู' อาจหนุนการค้าไทย-ยุโรปโต เอกชนแนะรัฐบาลทวนข้อตกลงให้รอบคอบ

ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (PCA ไทย-อียู) อาจหนุนการค้าไทย-ยุโรปโตเกินดุลมากกว่าเดิม พร้อมยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากล ด้านเอกชนเตือนรัฐบาลพิจารณาข้อตกลงให้ดี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

“บุษฎี สันติพิทักษ์” รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในพิธีเปิดสัมมนา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (PCA ไทย-อียู) ในหัวข้อ “ความร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า” ว่า ความตกลงดังกล่าวมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้าของไทย และไทยควรส่งเสริมรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยให้เหตุผลสำคัญ 3 ประการ 

1. PCA มีประโยชน์ต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับอียู เนื่องจากอียูเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 5 ของไทย ซึ่งไทยมีการค้าเกินดุลกับอียู และมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อียู ในปี 2565 มากกว่า 41,000 ล้านบาท

2.อียูเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ทำให้สินค้าการเกษตรบางชนิดต้องปรับตัวให้ธุรกิจและสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายองค์กรต้องพิจารณาถึงประเด็นนี้อย่างรอบคอบ

 

3.อียูสนใจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมองว่าเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ธุรกิจในอียูเริ่มย้ายฐานผลิตจากจีนมาภูมิภาคนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ความตกลงดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ด้าน “ดร.ภก. นิลสุวรรณ ลีลารัศมี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสริมว่า PCA ช่วยรักษาผลประโยชน์การค้าในสินค้าที่ส่งออกไปยังยุโรปเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ อัญมณี เครื่องปรับอากาศ ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า

ขณะที่ “อสิ ม้ามณี” อธิบดีกรมยุโรป เผยว่า ความตกลงดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างเสนอต่อรัฐสภา หากรัฐสภาอนุมัติ PCA จะช่วยบรรเทาวิกฤติต่างๆในไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

"จิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า PCA ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและช่วยเหลือไทยในด้านวิชาการ รวมถึงช่วยหนุนการเจรจา FTA เนื่องจาก PCA จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้เทียบเท่าระดับสากล

แม้ PCA มีความตกลงที่เป็นประโยชน์กับไทย แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ โดย “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล” รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน บอกว่า PCA อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร ธุรกิจรายย่อย ทรัพยากรชีวภาพ การเข้าถึงยาและการรักษา ตลอดจนนโยบายสาธารณะ จึงฝากรัฐบาลรับฟังข้อเสนอแนะจากหลายองค์กร และตรวจสอบความตกลงดังกล่าวอย่างรอบด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากความตกลงนี้