ทอท.ลุยโปรเจ็กต์ใหม่ 'สุวรรณภูมิ' เร่งประมูลเฟสสอง - ระบบสายพานกระเป๋า

ทอท.ลุยโปรเจ็กต์ใหม่ 'สุวรรณภูมิ' เร่งประมูลเฟสสอง - ระบบสายพานกระเป๋า

ทอท.เผย 10 แอร์ไลน์ ดีลใช้อาคารแซทเทิลไลท์สุวรรณภูมิ หลังเปิดทดลองใช้ 28 ก.ย.นี้ คาดวีซ่าฟรีหนุนนักท่องเที่ยวจีนฟื้นทันที ต.ค.นี้ พร้อมเร่งแผนสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 7.8 พันล้านบาท พร้อมประมูลระบบสายพานกระเป๋าต้นปี 67 ด้าน “การบินไทย” สนใจขอใช้อาคารใหม่

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมที่จะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) แบบ Soft Opening ในวันที่ 28 ก.ย.2566 หลังจากมีการเลื่อนเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่กลับมาเป็นปกติ 

ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่เคยมีปัญหาบริษัทคิงเพาเวอร์เข้าพื้นที่ไม่ได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และเริ่มจ่ายผลตอบแทนการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับ ทอท.มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2566 โดยมีการพัฒนาร้านค้าปลอดภาษีเสร็จแล้ว 70%

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีแผนลงทุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ 

1.โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร สถานะปัจจุบันอยู่ช่วงปรับแบบให้เข้ากับการใช้งานในปัจจุยัน คาดว่าเปิดประมูลต้นปี 2567

2.โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร

3.โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ เพื่อเพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 4 หมื่นล้านบาท กำลังศึกษารายละเอียดโครงการเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

ในขณะนี้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมให้บริการแล้ว 100% ซึ่งคาดว่า SAT-1 จะช่วยเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารอีก 216,000 ตารางเมตร และเพิ่ม 28 หลุมจอดประชิดอาคารที่พร้อมให้บริกาน 100% สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร 

รวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปีต่อไป โดยหลังจากทดลองเปิดให้บริการ 1 เดือน ทอท.จะมีการประเมินความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2566

สำหรับการทดลองเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2566 จะมี 2 สายการบินใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แห่งนี้ ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และ สายการบินไทยเวียตเจ็ท โดยที่ 28 ก.ย.2566 สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เที่ยวบินที่ XJ 0761 จะเป็นเที่ยวบินที่จอดใช้บริการ SAT-1 โดยเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 10.15 น. 

ทั้งนี้ สัปดาห์แรกที่เปิดบริการ สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะให้บริการวันละ 14 เที่ยวบิน และสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะพิจารณาจัดสายการบินอื่นเข้าใช้บริการอาคาร SAT-1 เพิ่มต่อไป

ทอท.ลุยโปรเจ็กต์ใหม่ \'สุวรรณภูมิ\' เร่งประมูลเฟสสอง - ระบบสายพานกระเป๋า

เจรจา 10 สายการบินใช้อาคารใหม่

ทั้งนี้ นอกจาก 2 สายการบินนำร่องใช้บริการอาคาร SAT-1 แล้ว ปัจจุบัน ทอท.เจรจา 10 สายการบินที่จะมาใช้บริการอาคารผู้โดยสารนี้ อาทิ สายการบินเอมิเรตส์, สายการบินเอทิฮัด, ออล นิปปอน แอร์เวย์, กาต้า แอร์เวย์, มาฮานแอร์ สายการบินจากอิหร่าน และสายการบินไทย รวมทั้งคาดว่าหลังทดลองเปิดให้บริการ SAT-1 แล้ว สายการบินเหล่านี้จะตัดสินใจใช้บริการ 

รวมทั้ง ทอท.กำลังพิจารณามาตรการจูงใจสายการบิน เช่น ส่วนลดบริการกราวด์เซอร์วิส ค่าใช้จ่ายค่าเช่าออฟฟิศและค่าใช้สะพานเทียบ โดยจะพิจารณาเสร็จพร้อมเสนอคณะกรรมการ ทอท.ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้

ส่วนปริมาณผู้โดยสาร 6 ท่าอากาศยาน ทอท.ปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวในระดับ 70% โดยส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนจีนยังฟื้นตัวน้อย 

ขณะที่ผู้โดยสารในประเทศตอนนี้ฟื้นตัว 100% ซึ่ง ทอท.ประเมินว่าปีงบประมาณ 2566 จะมีผู้โดยสารรวม 6 ท่าอากาศยาน 100 ล้านคน และเพิ่มในปี 2567 อยู่ที่ 150 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่มี 142 ล้านคน โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าปีงบ 2566 จะมีผู้โดยสาร 40 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 ขยายตัวไป 60 ล้านคน กลับมาเทียบเท่าปี 2562

ทอท.ลุยพัฒนาสุวรรณภูมิ

นายกีรติ กล่าวว่า ปริมาณผู้โดยสารจะสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และ ทอท.ลงทุนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานต่างๆ โดยเฉพาะสุวรรณภูมิที่เตรียมเปิดรันเวย์ 3 และอาคาร SAT-1 ที่จะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร รวมถึงมีหลุมจอดรองรับอากาศยานเพิ่มอีก 28 หลุมจอด ดังนั้นเมื่อขีดความสามารถเพิ่มขึ้นจะรองรับดีมานด์ผู้โดยสารได้มากขึ้น

ส่วนนโยบายวีซ่าฟรี จะจูงใจนักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมากขึ้น โดยช่วง 5 เดือนของการใช้มาตรการระหว่าง 25 ก.ย.2566-29 ก.พ.2567 คาดว่าผู้โดยสารจีนเพิ่มสูงถึง 5 ล้านคน จากเดิม ทอท.ประเมินว่ามีปริมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณการเดินทางแล้ว จากปริมาณเที่ยวบินจีนในเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวน 100-200 เที่ยวบินต่อเดือน ขณะที่เดือน ต.ค.2566 คาดว่ามี 300 เที่ยวบินต่อเดือน เช่นเดียวกับผู้โดยสารเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวน 3.5 แสนคนต่อเดือน ขณะที่เดือน ต.ค.2566 คาดว่าจะมี 6.2 แสนคนต่อเดือน

จ่อประมูลระบบสายพานลำเลียง

นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.มีแผนลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะมีการประมูลระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าส่วนอาคาร SAT-1 เพราะปัจจุบันมีเฉพาะระบบของบริการขาออก แต่ขาเข้ายังเป็นการลำเลียงกระเป๋าด้วยรถลาก 

ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการให้บริการ ทอท.จึงได้มีการศึกษาระบบสายพานเพิ่มเติม เพื่อให้บริการในรูปแบบอุโมงค์ทางลอดติดอุโมงค์รถไฟฟ้าไร้คนขับ APM ซึ่งจะใช้งบประมาณพัฒนาระบบสายพานกระเป๋าขาเข้า 3,700 ล้านบาท โดยจะเปิดประมูลต้นปี 2567 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี รวมทั้งคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการได้ปี 2569

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า อาคาร SAT-1 มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะให้บริการวันที่ 28 ก.ย.นี้แล้ว อาทิ ร้านแมคโดนัลด์ส่วนพื้นที่ร้านค้าทาง King Power จะเปิดให้บริการ 70% และจะทยอยเปิดให้ครบ 100%

เช่นเดียวกับห้องรับรองผู้โดยสารของมิราเคิล เลาจน์ จะเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่วงเปิด Soft Opening ทั้งสายการบินสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ได้ติดต่อเพื่อจัดทำราคาพิเศษแล้ว อย่างไรก็ตาม 5 เดือนหลังจากนี้ จะเปิดเลาจน์เพิ่มของสายการบินอื่น เช่น สายการบินเอมิเรตส์ สายการบินเอทิฮัด

"การบินไทย" สนใจใช้อาคารใหม่

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยกำลังหารือ ทอท.เพื่อพิจารณาการใช้พื้นที่อาคาร SAT-1 เนื่องจากการบินไทยต้องประเมินว่าการเพิ่มพื้นที่บริการอีกอาคารนั้น จะทำให้การบินไทยต้องเพิ่มต้นทุนบริหารจัดการเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ เพราะจะต้องมีต้นทุนเพิ่ม อาทิ ต้นทุนค่าเช่าที่จอดรถและอุปกรณ์ 

รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ทั้งอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) และไปให้บริการที่ SAT-1 อีกทั้งขอรอประเมินความพร้อมบริการอาคารดังกล่าว และหลุมจอดทั้ง 28 หลุมจอด ว่ามีความพร้อมเพียงใด แต่ยืนยันว่าการบินไทยสนใจจะไปให้บริการ SAT-1 ซึ่งคาดว่าได้ข้อสรุปภายในปีนี้