‘อุตสาหกรรม’ หนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ชงตั้งนิคมฯ ใหม่ใน SEC เชื่อมลงทุน EEC

‘อุตสาหกรรม’ หนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ชงตั้งนิคมฯ ใหม่ใน SEC เชื่อมลงทุน EEC

“พิมพ์ภัทรา” พร้อมหนุนโครงการแลนด์บริดจ์ สั่งการ กนอ. ศึกษาแนวทางจัดตั้งนิคมฯ แห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) สร้างฐานรับลงทุน ชงร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษเทียบอีอีซี เชื่อมโลจิสติกส์อ่าวไทย-อันดามัน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 21-22 ก.ย.2566 ว่า กระทรวงฯ ได้มีการจัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร 

ทั้งนี้ ในการประชุมได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญว่า กระทรวงอุตฯ จะร่วมผลักดันการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย–อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโดยคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ให้เกิดขึ้นให้ได้ในเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการเป็นประตูโลจิสติกส์เชื่อมโยงการค้าของประเทศและภูมิภาค

รวมทั้งได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งนิคมฯ แห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ระนอง ชุมพรนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่เกษตรและอาหาร ชีวภาพ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่รองรับโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งจะทำให้บริเวณ SEC กลายเป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั่วโลก

“ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่เทียบเคียงกับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่ทางผ่านของการขนส่งสินค้า”

‘อุตสาหกรรม’ หนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ชงตั้งนิคมฯ ใหม่ใน SEC เชื่อมลงทุน EEC

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพรนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 

1. การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ให้มีความยืดหยุ่น มีโอกาสนำทรัพยากรแร่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2. การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ อาทิ กาแฟโรบัสต้า ทุเรียน มังคุด การแปรรูปผลิตภัณฑ์และยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เช่น บรรจุภัณฑ์ชีวภาพหรือสารสกัดที่มูลค่าสูง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ แบบควบคุมอุณหภูมิ

3. การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบรวมทั้งผลักดันมาตรฐานของปาล์มน้ำมันและยางพาราสามารถเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็จะเร่ง โดยแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เช่น กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสากล