ยุทธศาสตร์-จุดยืน ‘ไทย’ บน ‘เวทีโลก’ สร้างโอกาสอย่างไร? เมื่อโลกแบ่งขั้ว

ยุทธศาสตร์-จุดยืน ‘ไทย’ บน ‘เวทีโลก’  สร้างโอกาสอย่างไร? เมื่อโลกแบ่งขั้ว

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สงครามการค้ามาจนถึงสงครามเทคโนโลยี ซึ่งตอกย้ำถึงรอยร้าวระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งจีน และสหรัฐฯ นำมาสู่คำถามว่าบริบทโลกที่มหาอำนาจขัดแย้งกัน บทบาท – จุดยืนของไทยในเวทีโลก ควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุดในบริบทโลกปัจจุบัน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และอาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “Inclusive Green Growth Transition” ในระหว่างการประชุมประจำปี 2566 เรื่อง “Transitioning Thailand : Coping with the Future” ว่า ในวันนี้กล่าวได้ว่าโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หลังจากที่มีสงครามยูเครน และรัสเซียที่มีการทำสงครามกัน จึงเหมือนกับการ “ตอกฝาโลงโลกาภิวัฒน์” เพราะทำให้เห็นว่าการเชื่อมโยงกันระหว่างโลกนั้นถูกตัดขาดมีการคว่ำบาตรกันระหว่างมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และยุโรปที่คว่ำบาตรรัสเซีย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาติมหาอำนาจ และหลายประเทศเกิดการตั้งคำถาม เช่น หากจีนถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร เหมือนกับที่สหรัฐฯคว่ำบาตรรัสเซียคำถามก็คือวันนี้จีนอยู่ได้หรือไม่ คำตอบก็คือจีนอยู่ไม่ได้เพราะว่าวันนี้เศรษฐกิจเชื่อมโยงกันมาก จึงเป็นเหตุผลว่าจีนต้องทำการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น

โดยตัดบางส่วนที่เชื่อมโยงกับสหรัฐฯออกไป เช่น เดียวกับสหรัฐฯที่ก็ไม่สามารถอยู่รอดทางเศรษฐกิจไม่ได้ในตอนนี้เพราะยังพึ่งพากันสูงสหรัฐฯก็พยายามที่จะทำเศรษฐกิจใหม่ให้พึ่งพาจีนลดลง ซึ่งทำให้เกิดคำที่เรียกว่า “ถอดรื้อความเชื่อมโยงจากกัน” หรือคำว่า “Decoupling” หรือการแยกส่วนออกจากกันนั่นเอง

“จากที่ 30 ปีทีผ่านมาเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันในลักษณะของ Global Supply chain ทำให้เกิดโลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมโยงกันแต่วันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกซับซ้อนขึ้น การค้าโลกก็ซับซ้อนขึ้นเพราะกลายเป็นโลกที่แยกขั้ว ซึ่งความหมายของประเทศไทยต่อนัยเรื่องพวกนี้คือเรื่องความมั่นคง เรื่องของความยั่งยืนจะมีความสำคัญมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะมีความเปราะบางมากขึ้นของเศรษฐกิจ”

ยุทธศาสตร์-จุดยืน ‘ไทย’ บน ‘เวทีโลก’  สร้างโอกาสอย่างไร? เมื่อโลกแบ่งขั้ว

ดร.อาร์มกล่าวต่อว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องมองหาคือเราต้องมองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติความขัดแย้งของมหาอำนาจ เมื่ออเมริกาจะแยกห่วงโซ่การผลิตออกจากจีนก็จะต้องมองหาพื้นที่อื่นๆ ที่เรียกว่า “Rest Area” ที่ไม่ได้ขัดแย้งกับใคร เช่น อาเซียนบวกกับอินเดีย เช่นเดียวกับจีนที่ไม่ค้าขายไปที่อเมริกากับยุโรปก็มองหาตลาดใหม่ ก็คือตลาดอาเซียน ละตินอเมริกา แอฟริกา และรัสเซีย ซึ่งสถานการณ์แบบน้ำให้มีขั้วที่ 3 แล้วมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสทั้งสองทาง ซึ่งไทยอยู่ในส่วนนี้ด้วยแล้วกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถดึงดูดการลงทุนและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้

“ในภาษาทางการทูตมีคำว่าลู่ไปตามลม แต่ลี กวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์บอกว่าถ้าเรารู้ว่าลมจะพัดไปทางไหนแล้วเราไปทางนั้นจะดีกว่าลู่ตามลม ดังนั้นหากจุดการเติบโตของโลกอยู่ใน พื้นที่อื่นๆ ที่เป็น Rest Area คือไม่ขัดแย้งใคร เราก็มีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนารอบๆประเทศในภูมิภาคก็จะมีพลังที่จะสร้างการเติบโตได้มากขึ้นยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยนอกจากจะเชื่อมตะวันตก หรือ จีน เราต้องคิดถึงพื้นที่อื่นๆที่เหลื่ออยู่ของโลก โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ไทยสามารถหาโอกาสในการเติบโตได้”

ดร.อาร์มกล่าวต่อว่าในส่วนการยกระดับของ Trade War ยกระดับเป็น Tech War ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯและจีน เป็นเรื่องของเทคโนโลยีถือเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนที่เราต้องมองเป็นรายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีและเป็นโจทย์ที่ท้าทายและไม่เหมือนเดิม

 ทั้งนี้สิ่งที่เราต้องคิดคือการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ทำให้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก การเปลี่ยนยุคเทคโนโลยีเร็วขึ้น อาจเป็นความเสี่ยงที่เราจะตกขบวนเร็วขึ้น หรือเป็นโอกาสหากเราสามารถเกาะขบวนไปกับเทคโนโลยีใหม่ได้ อีกมิติหนึ่งของเทคโนโลยีบอกว่าการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีอาจทำให้ต้นทุนถูกลงเพราะจีนจะแข่งด้วยต้นทุนถูกลง ซึ่งทำให้เอาเทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาการผลิตได้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่เราต้องคิดว่าไม่ได้อยู่ในบริบทเดิมอีกต่อไป

 

ถอดบทเรียนเศรษฐกิจจีนโมเดลก้าวไปข้างหน้า

เรามักเข้าใจโมเดลเศรษฐกิจที่ผิดของจีนที่บอกว่าเศรษฐกิจโตได้โดยรัฐ แต่ที่จริงนั้นตั้งแต่สมัยโบราณจีนนั้นเติบโตขึ้นได้โดยหัวใจสำคัญ 3 เรื่อง คือ

1.การปฏิรูปภาครัฐ ลดขนาดของภาครัฐ ผ่อนคลายบทบาทของภาครัฐ โดยภาครัฐปฏิรูปตัวเองลดบทบาทให้ลดลง

2.การเปิดประตูสู่โลกภายนอก เมื่อโลกาภิวัฒน์เปลี่ยนไป มีหลายประเทศที่เป็นตลาดที่เปิด เราต้องเชื่อมกับโลกแต่จะเชื่อมอย่างไร เช่น ราชวงศ์หมิง ที่มีเจิ้งเหอออกเดินเรือไปทั่วโลก หรือสมัย เติ้งเสี่ยวผิง เปิดเชื่อมโลกทำให้เป็นยุคทองของเศรษฐกิจจีน

และ 3.การเอาเทคโนโลยีมาใช้ และปฏิรูปให้เกิดผลิตภาพในการผลิต จีนขึ้นรถด่วนขบวนแรกของเทคโนโลยี 4.0 ได้ทัน

“โมเดลใหม่ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อโลกาภิวัฒน์เปลี่ยนไป เราก็ต้องไม่หลงทาง มี 3 ข้อสำคัญ การปฏิรูประบบราชการ การสร้างตลาด สร้างการแข่งขัน โดยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ตลาดจีนก็ยังมีความต้องการการคู่ค้ากันมาก เพราะเราเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า The Rest ที่เป็นยุคใหม่ของการเชื่อมโลกของไทย รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล AI และเทคโนโลยีใหม่มาช่วยในเรื่องการทรานฟอร์มประเทศในการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้”ดร.อาร์ม กล่าว