'สุริยะ' แบ่งงานคมนาคม ตั้ง 'สุรพงษ์' คุม 8 หน่วยรวมระบบราง

'สุริยะ' แบ่งงานคมนาคม ตั้ง 'สุรพงษ์' คุม 8 หน่วยรวมระบบราง

“สุริยะ” แบ่งงานคมนาคม มอบ “สุรพงษ์” รัฐมนตรีช่วยคุม 8 หน่วยรวมระบบราง เดินหน้าสางปัญหาข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมเจรจาเอกชนเข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ต้องเกิดภายใน 2 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม โดยตนได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ดังนี้

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ 5.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด

ขณะที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด 6.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) 7.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 8.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

ส่วนที่เหลืออีก 9 หน่วยงานตนจะกำกับดูแล ประกอบด้วย 1.กรมทางหลวง (ทล.) 2.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 4.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 5.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 6.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 7.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 8.สถาบันฝึกอบรมระบบราง และ 9.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

สำหรับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หลังจากการมอบนโยบายครั้งนี้ ตนจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตลอดจนประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ หรือภายในเดือน ต.ค.นี้

“ต้องพิจารณาด้วยว่าการจะดำเนินการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นจะมีผลต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ หากมีผลก็ต้องตอบคำถาม ครม.ให้ได้ว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร คาดว่าถ้าเรื่องนี้จบภายใน 2 – 3 สัปดาห์นี้ก็จะเสนอขออนุมัติจาก ครม.และดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ขณะที่การผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น กระทรวงฯ มีเป้าหมายจะต้องผลักดันให้เกิดภายใน 2 ปี ครอบคลุมทุกเส้นทางรถไฟฟ้าทุกสายจะต้องมีอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเรื่องนี้ต้องเรียกเอกชนคู่สัญญาสัมปทานมาเจรจาโดยเร็วที่สุด และต้องหารือด้วยว่าเมื่อการปรับลดค่าโดยสาร จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดรายได้ของเอกชนจะเพิ่มขึ้น จะแบ่งปันผลประโยชน์แก่รัฐอย่างไร

โดยจะต้องเจรจาทั้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมไปถึงบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ร่วมลงทุนและบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จากผลศึกษาพบว่าจะสูญเสีบรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% และคาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตนไม่หนักใจกับการได้รับมอบหมายให้มากำกับดูแลหน่วยงานระบบราง ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าตนมารับตำแหน่งนี้โดยมีนายทุนรถไฟฟ้าสนับสนุนนั้น ขอชี้แจงว่าข่าวก็คือข่าว อีกทั้งการบริหารงานของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล ไม่ได้ผูกขาดที่รายบุคคล การพิจารณาทุกเรื่องต้องผ่านขั้นตอน และนำมาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับโครงการที่ต้องดำเนินงานเกี่ยวกับระบบราง มีหลายโครงการที่เป็นประเด็นโดยเฉพาะเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขและเดินหน้าต่อไป ดังนั้นยืนยันว่าการแบ่งงานนั้นเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันไม่ใช่เป็นกลุ่มนายทุน ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ตามกระบวนการทำงานที่มีอยู่