4 หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ 67 3.48 ล้านล้าน ขาดดุล 6.9 แสนล้าน เพิ่มแสนล้าน

4 หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ 67 3.48 ล้านล้าน ขาดดุล 6.9 แสนล้าน เพิ่มแสนล้าน

“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เคาะกรอบงบฯ67 3.48 ล้านล้าน  ขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 1 แสนล้าน เพิ่มกรอบวงเงินใช้จ่ายงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รับรายจ่ายเพิ่มเติมตามนโยบายรัฐบาล – ชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สำนักงบฯชี้ขาดดุลลดลงจากปีงบฯ66 2 พันล้าน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมการทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (14 ก.ย.) ว่าที่ประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย สำนักงบประมาณ  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นซอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1.3 แสนล้านบาท

จากกรอบวงเงินงบประมาณเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 -2570) ฉบับทบทวน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดปัจจุบันได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดยวงเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้น จำนวน 3 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และประมาณการขาดดุล เพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินการตามนโนยายสำคัญของรัฐบาล และเพื่อดำรงสัดส่วนทางการคลังต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงิน การคลัง โดยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นในปี 2567 จะไม่กระทบกับกรอบการเงินระยะปานกลางของประเทศแต่อย่างใด

โดยวงเงินที่ทบทวนใหม่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) จำนวน 2.9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3% โดยเป็นประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ จำนวน 2.787 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 6.93 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (6.95  แสนล้านบาท )  จำนวน 2,000 ล้านบาท หรือลดลง0.3%

อย่างไรก็ตามการขาดดุลงบประมาณที่ 6.93 แสนล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากกรอบงบประมาณปี 2567 ที่เคยตั้งขาดดุลงบประมาณไว้ 5.93 แสนล้านบาท

โดยการจัดทำงบประมาณปี 2567 อยู่ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2567 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  2.7 - 3.7% และอัตราเงินเฟ้อ 1.3 - 2.3%

4 หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ 67 3.48 ล้านล้าน ขาดดุล 6.9 แสนล้าน เพิ่มแสนล้าน

“งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนต่าง ๆ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม และช่วยผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม การสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาแรงงานที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล”

 

นายเฉลิมพลกล่าวว่าสำนักงบประมาณจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566 จากนั้นจะให้หน่วยงานราชการส่งคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณจนถึงวันที่ 6 ต.ค.จากนั้นสำนักงบฯจะใช้เวลาประมาณ 35 วันในการพิจารณาคำของบประมาณก่อนจะส่งเข้าสู่การประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ในวันที่ 26 ธ.ค.ก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ 3 วาระ คาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯได้ในวันที่ 17 เม.ย.2567

อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณไปพลางก่อนปี 2566 ไปจนถึงเดือน พ.ค.2567 โดยเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้แล้วก็จะเข้าสู่การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบปกติ