เจาะลึกการพัฒนาอุตฯ EV ในพื้นที่ EEC และอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทย

เจาะลึกการพัฒนาอุตฯ EV ในพื้นที่ EEC และอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทย

ไทยถือว่ามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์โลกจากการเป็นฐานการผลิตและประกอบรถยนต์รายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตประมาณปีละ 2 ล้านคัน หรือราว 2% ของการผลิตทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโตขึ้นจากการผลิตยานยนต์สันดาปเพื่อป้อนค่ายรถญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงงานและใช้ไทยเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์หลัก อย่างไรก็ตาม กระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

 ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย       เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจุบันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมมีเป้าหมายหลักคือ ผลักดันและต่อยอดให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ EV ที่สำคัญของโลก

โครงการ EEC ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์อนาคตการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งแนวทางการพัฒนาจะมุ่งเน้นให้ทุกองคาพยพสามารถเติบโตร่วมไปกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนที่กำหนดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2018 มีความคืบหน้าและสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1) การเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมเดิม (Current economy) โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า และชุดสายไฟ ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามความต้องการใน ตลาด EV นอกจากนี้ เมื่อปี 2019 EEC ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่มีมูลค่าลงทุนเกือบ 4 พันล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้สามารถใช้งานในยานยนต์ EV ได้ด้วย อาทิ ระบบกันสะเทือน เบรก และยางล้อ โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2026

2) การหมุนเวียนทรัพยากรเดิม (Circular economy) ในเขตพื้นที่ EEC ได้มีการจัดตั้งโครงการ “รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)” โดยจะนำรถยนต์สันดาปมาเปลี่ยนให้เป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ 1) สามารถลดต้นทุนการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้บริโภคได้ราว 40% เมื่อเทียบกับการถือครองรถสันดาปที่มีอายุใช้งานมากกว่า 10 ปี 2) สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจอู่ซ่อมรถเพื่อให้สามารถเติบโตไปกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าได้ และ 3) เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำผ่านการดัดแปลงยานยนต์เชิงพาณิชย์ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องไปแล้วในกลุ่มรถสามล้อที่ให้บริการในพื้นที่

3) การส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New economy) โดยจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศน์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV ecosystem) ที่ครบวงจรภายในประเทศ ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินลงทุนสะสมในอุตสาหกรรมยานยนต์และแบตเตอรี่ EV สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท ครอบคลุมการลงทุนในโรงงานผลิตและศูนย์ทดสอบ EV battery, สถานีชาร์จ, สนามทดสอบยานยนต์ รวมถึงการพัฒนาอู่ซ่อมและทักษะแรงงาน นอกจากนี้ พื้นที่ EEC ยังสามารถดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ EV อีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังให้ความสนใจจะขยายฐานการผลิตในภูมิภาค ASEAN อาทิ ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ทั้ง BYD GAC AION และ MG ได้วางแผนตั้งโรงงานผลิตมูลค่ารวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือแม้แต่กลุ่มบริษัทร่วมทุน Foxconn – ปตท. ก็กำลังจะตั้งโรงงานในเขต EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 350 ไร่

SCB EIC มองว่า อานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในพื้นที่ EEC จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็น Regional hub ด้านการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกไม่น้อยที่ต้องเร่งพัฒนาควบคู่กันไป โดย SCB EIC คาดว่ากำลังกำลังการผลิตรถยนต์ EV ของไทยจะอยู่ที่ราว 3.5 แสนภายในปี 2025 (ขยายตัวกว่า 300% จากปี 2022) และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 แสนคัน ในปี 2027 ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจชี้ว่า ทุกๆ 1 แสนคันของการผลิตรถยนต์ EVายในประเทศ จะทำให้ GDP ไทยเติบโตเพิ่มขึ้นราว 0.2% ซึ่งนอกเหนือไปจากการออกนโยบายเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติแล้ว เรายังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศร่วมด้วย เพื่อให้ทุกข้อต่อการผลิตสามารถเกิดขึ้นในท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ