โลกฟ้าหม่น ไทยฟ้าเปิด | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกและไทยดูเหมือนซับซ้อนยิ่งขึ้น ภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังดูแข็งแกร่ง ไม่ว่าจากการใช้จ่าย ตลาดแรงงาน หรือการบริโภคที่ยังดีอยู่

 แต่มองไปข้างหน้า ดอกเบี้ยก็ยังสูง และกดดันผู้กู้มากยิ่งขึ้น ส่วนด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดนั้น ในภาพใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้วก็ดูจะหดตัวมากขึ้น

ด้านเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองก็แย่เกินที่หลายฝ่ายคาด แต่หนึ่งในแสงสว่างของเศรษฐกิจไทย ได้แก่การเมืองที่ชัดเจนขึ้น คำถามคือ ภาพของเศรษฐกิจโลกและไทยในปลายปีนี้ต่อปีหน้าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอตอบคำถามดังนี้

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก มองว่าเศรษฐกิจโลกในปลายปีนี้จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ  โดยในสหรัฐนั้น แม้ตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันดีเกินคาด โดยการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีที่ 2.4% ต่อปี แต่ก็ปรับลงต่ำกว่าเมื่อประกาศครั้งแรกที่ 2.7%

 ขณะที่ตลาดแรงงานก็เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงด้านการจ้างงาน ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีของ Conference Board และสถาบัน ISM ลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาพของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

มองไปข้างหน้า ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ในช่วงต้นของไตรมาส 3 ผู้เขียนจึงปรับมุมมองการคาดการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยมองว่า

(1) Fed จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.38% ไปจนถึงสิ้นปี

(2) เศรษฐกิจสหรัฐจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แต่

(3) เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอแรงขึ้นในช่วงสิ้นปีและจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2024 ซึ่งจะทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยลงประมาณ 1.25% จากระดับปัจจุบัน 

โลกฟ้าหม่น ไทยฟ้าเปิด | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดูแข็งแกร่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ แต่ก็ยังจะเผชิญ 3 ความเสี่ยงหลัก

(1) อสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ หรือ Commercial Real Estate ที่หดตัวมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากดอกเบี้ยขาขึ้น และอีกส่วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงถาวร เช่น กระแส Work from Anywhere 

ทำให้ความต้องการ Office ต่ำลงกว่าเดิม กระทบต่อธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ และอาจลามไปสู่ภาคการเงินโดยกว้างเช่นเดียวกับช่วงเดือน มี.ค. ที่ธนาคารภูมิภาคสหรัฐ เช่น SVB, Signature และ First Republic ล้มละลาย

(2) ภาคการคลังและการเงินจากการปรับลดความน่าเชื่อถือ ทั้งจาก Fitch ที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจาก AAA เป็น AA+ และจาก Moody's และ S&P ที่ปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารรายย่อยและขนาดกลาง 10 ราย จากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง 

(3) การเงินภาคครัวเรือน จากเงินออมส่วนเกินที่หมดลง ทำให้การใช้จ่ายในระยะต่อไปอาจเริ่มน้อยลง และดอกเบี้ยที่สูงอย่างต่อเนื่อง กระทบกับผู้บริโภคท่ามกลางตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างรวดเร็ว

ด้านเศรษฐกิจของยุโรป ผู้เขียนมองว่ามีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากเงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าสหรัฐและลดลงช้ากว่า ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ทำให้เป็นไปได้ที่ยังต้องขึ้นดอกบี้ยต่อ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงภาวะถดถอยมากขึ้น 

ด้านเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ดูเหมือนกำลังผ่านจุดต่ำสุดเชิงวัฐจักรและน่าจะเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นบ้าง แต่ระยะยาวเสี่ยงเข้าสู่ “วงจรเงินฝืด” มากขึ้น ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเสถียรภาพมากกว่าการขยายตัว วิกฤตอสังหาฯ ที่จะลากยาว และหนี้ประชาชาติที่สูงและจำกัดการลดดอกเบี้ย 

ภาพทั้งหมดทำให้ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 จะชะลอลงแรงขึ้น ขณะที่ในปี 2024 บางประเทศอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ด้านเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันเห็นสัญญาณชะลอลงมาก แต่ในปีหน้ามีความหวังจากความชัดเจนการเมืองและนโยบายภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันชะลอตัวลงแรง เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ที่ต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดไว้มาก อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปโดยเฉพาะในปีหน้า ผู้เขียนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น จากความชัดเจนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง จากการที่รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. 

โลกฟ้าหม่น ไทยฟ้าเปิด | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

อย่างไรก็ตาม แม้เสถียรภาพรัฐบาลจะมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยง 3 ประการ คือ

(1) ประเด็นการบริหารจัดการทางการเมืองในรัฐบาลโดยเฉพาะภายในคณะรัฐมนตรี

(2) นโยบายเศรษฐกิจที่ยากและท้าทายในเชิงปฏิบัติ ทั้งในแง่หลักกฎหมายและวินัยทางการเงินการคลัง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทย และ

(3) พรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ

ในประเด็นผลต่อเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาลนั้น หากคำนวณรวมผลของนโยบายที่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อีกประมาณ +1% ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะขยายตัวได้ 4.1% จากปี 2023 ที่ขยายตัว 2.7% จาก 4 ปัจจัย คือ 

(1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Digital Wallet ที่จะกระตุ้นการบริโภค 
(2) การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน ที่ค้างจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า 
(3) ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มเติม แต่ 
(4) เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย (จาก 2.25% ในปัจจุบันเป็น 2.75%) โดยเงินบาทในปี 2024 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 36 บาท จากปี 2023 ที่เฉลี่ยที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์ 

สาเหตุที่บาทจะอ่อนลงเป็นเพราะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดี จะทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอจะทำให้การส่งออกมีปัญหา ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในปี 2024 และเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ย จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ ความแตกต่างในทิศทางนโยบายการเงินระหว่างไทยและโลกจะทำให้ความผันผวนในค่าเงินยิ่งมีมากขึ้น

แม้ไทยจะฟ้าเปิดท่ามกลางโลกที่ฟ้าหม่นในปีหน้า แต่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย อย่าได้วางใจในความเชี่ยวกรากของเศรษฐกิจ
  บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่