กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งประสานทุกฝ่าย เพิ่มปริมาณก๊าซฯ ลดต้นทุน 'ค่าไฟ'

กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งประสานทุกฝ่าย เพิ่มปริมาณก๊าซฯ ลดต้นทุน 'ค่าไฟ'

กรมเชื้อเพลิงฯ ยืนยันเร่งบริหารแหล่งก๊าซฯ หวังดึงต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำลง พร้อมประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ตามนโยบายรัฐบาล

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมฯ ได้ประสานกับทุกฝ่าย เพื่อเร่งกำลังผลิตทดแทน แหล่งเอราวัณ หรือ G1/61 ที่เดิมคาดว่า ในวันที่ 1 ธ.ค.2566 กำลังผลิตจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันนี้ที่ผลิตได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ล่าสุด ของผู้ดำเนินการผลิตคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 

ทั้งนี้ เนื่องจากเครนของเรือ K1 ที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุ่มผลิตแปลงสำรวจเกิดปัญหาการแตกร้าวเสียหายจึงต้องทำการเปลี่ยนเรือใหม่ส่งผลให้การผลิตล่าช้าไปอย่างน้อย 2 เดือน แต่บริษัทให้ความมั่นใจว่าจะเพิ่มกำลังผลิตให้เป็นไปตามสัญญา ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในวันที่ 1 เม.ย.2567 นี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาดังกล่าว กรมฯ จึงได้เร่งประสานงานกับทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหา โดย ปตท.สผ. ได้ เพิ่มกำลังผลิตในแหล่งจี 2/61 หรือบงกช อย่างต่อเนื่องอีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่มีสัญญาผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่มีการหรี่หรือปรับลดกำลังผลิต นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์ เพิ่มอีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานงาน แหล่งยาดานา ในเมียนใส ขอความร่วมมือให้คงกำลังผลิตที่ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้นานที่สุด และประสานมาเลเซียขอให้ก๊าซจากแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วม เจดีเอ มาใช้ในไทย ในกรณีที่มาเลเซียไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เป็นต้น

“ภาพรวมในขณะนี้ การบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯ ทางท่อ ทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้”

ทั้งนี้ ในส่วนที่รัฐบาลจะให้เร่งเจรจาบนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทางกรมฯ พร้อมร่วมประสานงานในขั้นตอนดำเนินการ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะต้องมีการออกกฏหมายขึ้นมาดำเนินการ คาดรวมๆ แล้ว หากจะผลิตก๊าซฯ ขึ้นมาได้จะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งหากได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้ง 2 ประเทศ ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากแหล่งปิโตรเลียม การใช้ก๊าซฯ นำมาผลิตไฟฟ้าลดค่าครองชีพประชาชน 

"ปัจจุบันนี้แหล่งอ่าวไทยมีปริมาณก๊าซฯ ลดน้อยลง จากเดิมไทยผลิตได้ 70% ในขณะนี้เหลือ 50% ของความต้องการใช้จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจี หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีราคาสูงกว่า ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพงขึ้น"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์