เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่น่าวางใจ มีทั้งส่วนที่ดีขึ้นและแย่ลงผสมกัน ที่ดีขึ้นคือสหรัฐที่อัตราเงินเฟ้อลดลงและเศรษฐกิจมีโมเมนตัมที่จะขยายตัวแบบซอฟต์แลนดิ้ง ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยปีนี้

แต่ที่ไม่ดีคือจีนที่เศรษฐกิจชะลอมากและอาจทรุดยาว ขณะที่ในยุโรปบางประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ทําให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยปีหน้า ซึ่งถ้าเกิดขึ้นสถานการณ์คงยืดเยื้อ

เพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะจํากัดความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหา ทําให้เศรษฐกิจโลกจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ประเทศต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ไม่น่าวางใจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักไม่ไปในทางเดียวกัน มีทั้งที่ดูดีและอ่อนแอ เริ่มจากเศรษฐกิจอันดับหนึ่งคือ สหรัฐ

ภาพเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ต่างกับตอนต้นปีมาก อัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วเหลือร้อยละ 3.3 เดือนกรกฎาคม เศรษฐกิจชะลอตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขยายตัวร้อยละ 2.1 ไตรมาสสอง แต่โมเมนตัมยังดี เห็นได้จากตลาดแรงงานที่ตึงตัว อัตราการว่างงานต่ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นแม้อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นไปแล้วถึง  5 เปอร์เซ็นต์

แสดงถึงความสามารถของเศรษฐกิจสหรัฐในการปรับตัวรับแรงกระทบต่างๆ ล่าสุดกิจกรรมเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมเร่งตัวจนประเมินกันว่า จีดีพีสหรัฐไตรมาสสามอาจเกินร้อยละ 5 ขณะที่ธนาคารโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) ปรับลดโอกาสที่สหรัฐจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยช่วง 12 เดือนข้างหน้าลงเหลือเพียงร้อยละ 15

ความเข้มแข็งนี้ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะซอฟต์แลนดิ้งได้ในปีนี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะเป็นความสำเร็จที่งดงามของนโยบายการเงิน ที่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงลงได้โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจถดถอย

สำหรับการประชุมเฟดเดือนนี้ ตลาดคาดว่าเฟดอาจพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยพิจารณาจากความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้

ในแง่การตัดสินใจ ผมคิดว่าจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมว่าลงต่อหรือไม่และลงเร็วแค่ไหน รวมถึงการวิเคราะห์ของเฟดเองว่าผลสะสมต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาได้หมดไปหรือยังหรือเพิ่งเริ่ม เพราะถ้าผลยังมีอยู่และอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง การให้ยาเพิ่มหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกก็อาจรอได้

เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

โมเมนตัมที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลก แต่น่าเสียดายที่ถูกลดทอนโดยปัจจัยลบล่าสุดคือ การชะลอตัวของจีน ที่เป็นภาพตรงข้ามกับตอนต้นปีที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งหลังโควิดและดึงเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวดีตามไปด้วย

แต่ตัวเลขล่าสุดชี้ว่าการใช้จ่าย สินเชื่อ และการผลิตในจีนชะลอลงมาก อัตราเงินเฟ้อติดลบ และค่าเงินหยวนอ่อนลง เป็นผลจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ที่โยงกับปัญหาที่จีนมีในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่กระทบความเชื่อมั่น ทั้งสองปัญหาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการแก้ไข

ล่าสุดมีสัญญาณว่า รัฐบาลจีนจะไม่เลือกแก้ปัญหาโดยทุ่มทรัพยากรการคลังเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การอุ้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่าย

ตรงกันข้าม การแก้ไขอาจเน้นผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวตามกลไกตลาดซึ่งจะใช้เวลา ทําให้จีนปีนี้อาจขยายตัวตํ่ากว่าเป้าร้อยละห้าและขยายตัวตํ่าในปีหน้า

เศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษก็อ่อนแอ ความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง ล่าสุดเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 5.3 เดือนสิงหาคม

เศรษฐกิจเยอรมนีที่เข้มแข็งสุด การขยายตัวชะลอหรือติดลบมาแล้วสามไตรมาสติดต่อกัน เป็นผลทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และแรงกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัจจุบันกิจกรรมเศรษฐกิจในยุโรปอ่อนแอมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้และปีหน้า

เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

ในส่วนอื่นๆ ญี่ปุ่นแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดี เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ก็เป็นผลจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแต่การใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอ อินเดียกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็อ่อนลง ประเทศตลาดเกิดใหม่เกือบครึ่งมีปัญหาหนี้ ของไทยเองการฟื้นตัวก็พึ่งการท่องเที่ยวมากเพราะกําลังซื้อในประเทศอ่อนแอ

สําหรับภาคธุรกิจ ผลสำรวจ Global business survey อ้างโดยสํานักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า กิจกรรมภาคธุรกิจในเดือนสิงหาคมอ่อนลงในทุกพื้นที่ รุนแรงมากคือยุโรป อังกฤษ ตามด้วยจีน และญี่ปุ่น เป็นผลจากการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนลง เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

คําถามคือ เศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นจะสามารถหักล้างการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยุโรป และในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้และปีหน้า

ผมคิดว่าเราคงยังไม่มีคําตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามคืออัตราดอกเบี้ยว่าจะขึ้นต่อหรือไม่ ผ่านจุดสูงสุดหรือยัง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันขาลงต่อเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ ถ้าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะถดถอยพร้อมกัน จะมีบางประเทศไม่ถดถอย และที่ถดถอยความรุนแรงก็จะต่างกัน ลึกบ้างตื้นบ้างแล้วแต่กรณี

แต่เมื่อเกิดขึ้นโอกาสที่เราจะเห็นประเทศหลักร่วมมือกันแก้ปัญหาเหมือนในอดีตคงไม่เกิดขึ้น เพราะความขัดแย้งและการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐกับจีนจะทำให้ความร่วมมือเกิดขึ้นยาก ซึ่งชัดเจนจากการประชุมกลุ่ม G20 ที่อินเดียเมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาที่ไม่ได้พูดเรื่องนี้

ทําให้การแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ไม่สามารถพึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศได้

ดังนั้น การทํานโยบายเศรษฐกิจในบ้านเราปีนี้และปีหน้ามีหลายเรื่องที่ต้องระวัง และต้องตระหนักเรื่องนี้ ต้องไม่ประมาทผลที่จะมาจากเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลก อย่าประมาท ยังน่าห่วง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]