ธ.ก.ส.ขานรับ 'พักหนี้' เกษตรกร - ตั้งเป้าลดหนี้เสีย

ธ.ก.ส.ขานรับนโยบายรัฐบาลใหม่ พักหนี้เกษตรกร เตรียมทำข้อมูลรอหารือชัดเจน หลังแถลงนโยบาย พร้อมวางเป้าสิ้นปีหนี้เสียเหลือไม่เกิน 5.5%

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ฉัตรชัย ศิริไล ระบุ กระทรวงการคลังได้ประสานมาทาง ธ.ก.ส.เกี่ยวกับนโยบายพักหนี้เกษตรกรของรัฐบาลใหม่แล้ว ซึ่งธนาคารก็ได้มีการเตรียมข้อมูลและรายละเอียดของลูกค้าไว้ ทั้งข้อมูลกลุ่มธุรกิจ อายุ มูลหนี้ และอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เป็นต้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการในมิติใดบ้าง แต่แบงก์เตรียมฐานข้อมูลไว้เสนอรัฐบาลแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมข้อมูลไว้เสนอรัฐบาลว่า เมื่อดำเนินการแล้ว สิ่งที่กระทบกับแบงก์มีอะไรบ้าง เช่น​ จะพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น​ หรือ​พักชำระทั้งดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกระแสเงินสด​ ถ้าเกิดพักชำระเงินต้นแต่ดอกเบี้ยไม่เดินหน้าจะกระทบงบการเงินของธนาคาร​ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ ส่วนนี้ธนาคารอาจจะมีการเพิ่มแรงจูงใจและสนับสนุนให้เข้ามาชำระหนี้ด้วย ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะใช้โอกาสในการดำเนินมาตรการดังกล่าว ในการพัฒนาโมบายแบงก์กิ้ง แอปพลิเคชัน A-mobile เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาใช้ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งจะปรับปรุงแอพให้มีการใช้งานง่ายมากที่สุด

ซึ่งจะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการพักหนี้เฉพาะเงินต้น หรือพักดอกเบี้ยด้วย หากพักแบบดอกไม่เดินจะกระทบงบการเงินของธนาคาร จะต้องคุยรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง โดยมีฐานข้อมูลที่เตรียมไว้ ได้แก่ จำนวนลูกค้า ดอกเบี้ย และอายุแล้ว ขณะเดียวกันก็จะต้องคุยกระทรวงการคลังว่าหากดำเนินการจะมีผลอะไรบ้าง ทั้งมิติลูกค้า กระแสเงินสด และหนี้เสีย

ตั้งเป้าหนี้เสียเหลือ 5.5%

ปัจจุบันธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 8.46% มูลหนี้ 1.37 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายลดหนี้เสียลงมาในสิ้นปีบัญชี 2566 นี้ อยู่ที่ระดับ 5.5% คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้คงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท โดยได้นำเครื่องมือในการบริหารสินเชื่อมาใช้จัดการระบบ เพื่อจัดการหนี้เสีย และจะเข้าไปสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ระหว่างทางของลูกค้า และเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย เป็นต้น นอกจากนี้ ตั้งเป้าในปีบัญชี 2566 ปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้แค่ 35,000 ล้านบาท โดยมุ่งขยายสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่