งานแรก 'เศรษฐา' รื้อค่าพลังงาน ลดทันที 'ดีเซล-ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม'

งานแรก 'เศรษฐา' รื้อค่าพลังงาน ลดทันที 'ดีเซล-ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม'

“เศรษฐา” ประกาศประชุม ครม.นัดแรกลดราคาพลังงานทันที หารือ "สุพัฒนพงษ"’ ส่งต่อแนวทางดูแลราคาน้ำมัน “พลังงาน” เตรียมทางเลือกลดราคาดีเซล พร้อมเสนอแนวทางลดค่าเอฟที ยืดจ่ายหนี้ให้ กฟผ.แสนล้าน ด้าน กบน.ตรึงก๊าซหุงต้มถัง 15 กิโลกรัม 423 บาท รอทิศทางนโยบายรัฐบาลใหม่ 

การลดราคาพลังงานถูกกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยหาเสียงด้วยนโยบายปรับโครงสร้างและลดราคาพลังงาน

ล่าสุดนายเศรษฐา ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ของรัฐบาลรักษาการ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพื่อส่งไม้ต่อในการทำงานด้านเศรษฐกิจร่วมกันและจัดทำร่างนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา

นายเศรษฐา กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นราคาพลังงานรวมถึงประเด็นอื่นที่นายสุพัฒนพงษ์ ได้ฝากไว้หลายเรื่อง เช่น ขั้นตอนการลดค่าไฟและการลดราคาน้ำมันดีเซล โดยจะมีประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกแน่นอน

“ลดทันทีครับ ประกาศทันที และขอดูขั้นตอนนิดหนึ่ง จะทำงานไม่หยุด เพราะต้องดูนโยบายอื่นด้วย และถือว่านายสุพัฒนพงษ์ให้ความกรุณาและยินดีส่งไม้ต่อให้ด้วยความราบรื่น"

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลดราคาพลังงานว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนนโยบายที่เสนอพรรคเพื่อไทยนำไปร่วมจัดทำร่างนโยบายรัฐบาล เป็นเรื่องของการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่า โดยการพูดคุยอย่างเป็นทางการต้องให้หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติมาพูดคุยอีกครั้ง

“วันนี้มาแลกเปลี่ยนความเห็นว่ามีอะไรจะส่งไม้ต่อไปถึงรัฐบาลใหม่ได้ การหารือวันนี้เป็นโอกาสดีของรัฐบาลรักษาการที่มาแลกเปลี่ยนความเห็นว่ามีอะไรจะส่งมอบหรือส่งต่อความคิดเห็นถึงรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ขอรับทราบสิ่งที่รัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลที่ผ่านมาได้ทำอะไรไว้บ้าง”

ส่วนจะสานต่อหรือดัดแปลงเรื่องใดเป็นนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะพิจารณา โดยนายเศรษฐารับทราบสิ่งที่รัฐบาลรักษาการทำมาแล้ว เพื่อให้รัฐบาลใหม่พิจารณาต่อได้แบบไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

รายงานข่าวระบุว่าพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงพลังงาน โดยนายพีระพันธุ์ ถูกเสนอชื่อเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ใช้กองทุนน้ำมันเป็นกลไกหลักดูแลดีเซล-ก๊าซ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการลดราคาพลังงานของรัฐบาลใหม่ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา โดยแนวทางการลดราคาพลังงานจะครอบคลุมทั้งราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน และค่าไฟฟ้า ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่

งานแรก \'เศรษฐา\' รื้อค่าพลังงาน ลดทันที \'ดีเซล-ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม\'

สำหรับแนวทางการลดราคาน้ำมันดีเซลที่ดำเนินการได้ ประกอบด้วย

1.ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยกรณีลดภาษีลงลิตรละ 5 บาท จะกระทบกับรายได้รัฐบาลเดือนละ 10,000 ล้านบาท

2.การลดจัดเก็บทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนน้ำมันดีเซลลิตรละ 6.43 บาท ในขณะที่น้ำมันดีเซลถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 0.81-2.80 บาท

3.ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างใหม่

สำหรับแนวทางการลดราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน ประกอบด้วย

1.เพิ่มเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

2.การใช้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ 

3.เงินบริจาคจากบริษัทพลังงานเพื่อสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 

4.ปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนหรือการจ่ายเงินชดเชย โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มที่กิโลกรัมละ 4.3973 บาท

เปิด 5 แนวทางลดค่าไฟฟ้า

ส่วนแนวทางการลดค่าไฟฟ้าที่ดำเนินการได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย

1. รัฐบาลจัดงบประมาณเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยดำเนินการ โดยใช้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และส่วนผู้ใช้ไฟที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ให้ปรับการช่วยเหลือเป็นแบบขั้นบันได เป็นต้น

2.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน

3.การยืดหนี้ค่าบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่ง กฟผ.รับภาระไปก่อนรวมวงเงิน 110,000 ล้านบาท โดยผู้ใช้ไฟมีกำหนดใช้หนี้คืน กฟผ.รวม 22 เดือน และถ้าจะลดค่าเอฟทีต้องขยายเวลาคืนหนี้ให้ กฟผ.ออกไป โดยรัฐบาลต้องมาแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ กฟผ. เช่นการออกพันธบัตรรัฐบาล

4.การปรับแก้ในเรื่องของค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) โดยการเจรจาการลด Margin การยืดเวลาของสัญญาเดิม และไม่เร่งการเพิ่มซัพพลายของการผลิตไฟฟ้า

5.การเร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้งในอดีต​ให้กลับมาเป็นโอกาสของประเทศที่จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการพึ่งพา LNG นำเข้า

กบน.ตรึงราคาก๊าซหุงต้มรอนโยบายรัฐบาลใหม่

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า การดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มสามารถใช้กลไกของกองทุนน้ำมันได้ โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 27 ส.ค.2566 ติดลบอยู่ที่ 55,091 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ติดลบ 44,716 ล้านบาท ส่วนบัญชีน้ำมันติดลบ 10,375 ล้านบาท

สำหรับการดูแลราคาก๊าซหุงต้มจะมีการตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มใหม่ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2566 เห็นชอบแนวทางพิจารณาแนวทางการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีก LPG ต่ออีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ย.2566 จากเดิมราคาปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2566

ทั้งนี้ การตรึงราคาจะเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย LPG มีราคาสูงกว่า 363 บาท ซึ่งเกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับถัง 15 กิโลกรัม ตามแผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังต้องเข้าไปรักษาเสถียรภาพด้านราคาตามแผนรองรับวิกฤติ

ดังนั้น กบน.จึงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพราคา LPG ให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายราคาขายปลีก LPG ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนด

ห่วงราคาก๊าซสูงขึ้นช่วงฤดูหนาว

สำหรับสถานการณ์ราคา LPG Cargo ในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยในช่วงเดือน ก.ค.2566 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 442.93 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 26.98 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดือน มิ.ย.2566 และราคาเฉลี่ยช่วงวันที่ 7-18 ส.ค. 2566 อยู่ที่ 561.72 ดอลลาร์ต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับราคาก๊าซ LPG ยังคงเป็นในเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การตึงตัวของราคาน้ำมัน และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อังกฤษ สหภาพยุโรป (อียู) ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีก LPG ในประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนจนมากเกินไป กบน.จึงเห็นควรให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุน สำหรับก๊าซ LPG เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ต่ออีก 1 เดือน รวมเป็น 7 เดือนติดต่อกัน

“การประชุม กบน.ครั้งที่ผ่านมา มองว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จก่อนเดือน ส.ค.2566 จึงคงราคา LPG ไว้ถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2566 และเมื่อยังไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานท่านใหม่มา กบน.จึงพิจารณาคงราคาไว้ก่อนอีก 1 เดือน ซึ่งตอนนี้เก็บเงินเข้าบัญชี LPG ที่วันละ 9.1 แสนบาท เรายังเป็นบวกอยู่ แต่ใกล้จะเข้าสู่หน้าหนาว จึงขอดูอีกครั้งในเดือน ก.ย.อีก 1 เดือน อีกทั้ง กรอบวงเงินชดเชย LPG กองทุนอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้ยังพอชดเชยได้”

เสนอแผนลดภาษีดีเซล-กู้เงิน

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลนั้น หากจะให้ลดราคาลงโดยไม่กระทบเงินสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้นสิ่งแรกที่ดำเนินการได้ คือ ลดภาษีน้ำมันดีเซลเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงผันผวนและซัพพลายยังตึงตัว

ทั้งนี้ ราคาได้ปรับขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ที่ปัจจุบันอุดหนุนลิตรละ 6.43 บาท เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท และหากเทียบกับเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เคยอุดหนุนเดือนละ 20,000 ล้านบาท แม้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดการชดเชยลงแต่ยังเป็นระดับที่มีความน่ากังวลอยู่

อย่างไรก็ตามการลดราคาทั้งดีเซลและ LPG โดยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถบริหารจัดการราคาตามาตรา 6 คือ เพิ่มเงินกู้เข้าระบบ ใช้งบอุดหนุนจากภาครัฐ และเงินบริจาค ซึ่งวิธีที่คล่องตัวมากสุด คือ การปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนหรือเงินชดเชย ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารจัดการได้

ทั้งนี้ สกนช.จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ คือ ประเด็นด้านภาษี การจัดงบประมาณ การเงินกู้และราคาพลังงาน ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงกังวลว่าอีก 2 เดือนจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานจะผันผวนขึ้นอีก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ถือเป็นพรรคการเมืองเดิมที่เคยดูแลด้านพลังงาน จึงน่าจะเข้าใจว่าฐานข้อมูลที่ดำเนินการตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะมีข้อมูลและศักยภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เหลือวงเงินกู้5.5หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้วงเงินที่สามารถกู้ได้มีทั้งหมด 1.1 แสนล้านบาท กู้ไปแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท โดยจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 200 ล้านบาท ส่วนอีก 5.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างทยอยกู้ จากสภาพคล่องที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มตามกรอบ 1.5 แสนล้านบาท แต่ทั้งหมดจะขอรับนโยบายจากรมว.ท่านใหม่ ตอนนี้เราทราบว่ารัฐบาลตั้งใจจะลดราคาทั้งดีเซลและ LPG ซึ่งเราก็เตรียมสมมติฐานไว้แล้ว ซึ่งวิธีการรายละเอียดจะต้องรอดูว่าจะใช้วิธีไหน”

ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สกนช.ยังหวังว่าก่อนที่จะหมดวาระการทำงานในตำแหน่งนี้ในช่วง 1 ปี จะสามารถบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้มีบัญชีติดลบ