อีอีซีเฟส 2 บูมลงทุนเกิดเมืองใหม่ ... ความหวังอสังหาฯภาคตะวันออก

อีอีซีเฟส 2 บูมลงทุนเกิดเมืองใหม่ ...   ความหวังอสังหาฯภาคตะวันออก

ร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ.2566 - 2570 อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาโดย ได้ปรับเป้าหมายการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท

เร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5.0% ต่อปี เพื่อให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572

การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะ 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ ซึ่งจะทบทวนสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน โดยการเจรจาเฉพาะราย เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น ยกเว้นภาษี 15 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเปิดให้คนไทยถือหุ้น 20% หรือใช้วัตถุดิบที่ผลิตโดยคนไทย เป็นต้น

การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้าง และส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กำหนดเป้าหมายให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้างเช่นกัน รวมไปถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ เป็นต้น

การพัฒนาทักษะบุคลากร เป็นการจัดการศึกษายุคใหม่ตามหลัก “Demand Driven”เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

การพัฒนาเมืองให้ทันสมัย

ชลบุรี เน้นพัฒนาเมืองใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ บริเวณอู่ตะเภา 60 ตร.กม. หรือ 3.7หมื่นไร่ รองรับท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 3 และบริเวณศูนย์ธุรกิจการบิน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากนี้ เมืองใหม่ยังใกล้ท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง และใกล้โครงการท่าเรือจุกเสม็ดในอนาคต เชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูง

ระยอง ศักยภาพพื้นที่มีความผสมผสานทั้งฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ แหล่งเกษตรกรรมภาคตะวันออก แหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ เหมาะกับการพัฒนาเป็นเมืองการศึกษา เมืองนานาชาติทันสมัย โดยอยู่ระหว่างหาพื้นที่ ที่มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองขนาดใหญ่ พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจไมซ์เชื่อมโยง

ฉะเชิงเทรา มีลักษณะเด่นคือ เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ อย่างอีสเทิร์น ซีบอร์ด เชื่อมด้วยโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ ทำให้ศักยภาพของพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้เป็นพื้นที่พำนักอาศัยที่ทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ รองรับการอยู่อาศัยของประชากรจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล

การส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชน โดยการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้าน พัฒนาระบบการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีอีซี

ภายใต้แผนพัฒนาอีอีซีเฟส 2 คาดว่าจะมีการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุน และมีโอกาสทางธุรกิจจากการเกิดเมืองใหม่ (การมีศูนย์การค้าทันสมัย ศูนย์กลางการศึกษา และพัฒนาทักษะนานาชาติ โรงพยาบาลชั้นนำ ศูนย์ดูแลสุขภาพ เมืองท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัยและการเป็นประตูสู่ภูมิภาค) อย่างน้อย 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา เมืองใหม่พัทยา เมืองใหม่อู่ตะเภา และเมืองใหม่ระยอง

เมื่ออีอีซีเริ่มเดินเครื่องอย่างจริงจัง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบทั้งด้านที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม โรงแรม โรงพยาบาล อาคารสำนักงานจะเกิดขึ้นตามมา และอาจทำให้ขนาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน 3 จังหวัดอีอีซีใหญ่กว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เป็นได้ เนื่องจากจะมีผู้มาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออกมากขึ้น มีผู้ย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาอาศัยมากขึ้น และมีชาวต่างชาติสนใจเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์