‘สภาพัฒน์’ ยังไม่ชงขึ้นแวตรับสังคมสูงวัยชี้ศึกษารอบด้าน - ดูทางเลือกอื่น

‘สภาพัฒน์’ ยังไม่ชงขึ้นแวตรับสังคมสูงวัยชี้ศึกษารอบด้าน - ดูทางเลือกอื่น

‘สภาพัฒน์’ ยังไม่ชงขึ้นแวตเป็น 10% รับ ‘สังคมสูงวัย’ ชี้ต้องศึกษารอบด้าน - เปิดกว้างทางเลือกอื่น ระบุยังเป็นแค่ความเห็นและข้อเสนอจากสภาปฏิรูป เตือนรับมือแรงงานสูงอายุทักษะต่ำเกษียณกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะทดแทนมีน้อยลง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า สศช.จะเสนอให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)จาก 7 เป็น 10% แล้วนำเอาภาษีที่เก็บเพิ่มไปใช้ตั้งกองทุนหรือจัดสรรสำหรับเป็นวงเงินให้ประชาชนใช้ในช่วงเกษียณอายุว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแค่แนวคิด และเป็นข้อเสนอที่มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งในการเสวนาข้ามรุ่นที่สศช.จัดขึ้นเมื่อวันอังคารก่อนก็ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อให้สังคมได้เห็นเป็นแนวคิด

อย่างไรก็ตามเป็นแค่ข้อเสนอที่นำมาพูดคุยกันในเวทีเสวนา ยังไม่ได้มีการพิจารณาและนำมาทำเป็นข้อเสนอที่จะเสนอต่อไปยังรัฐบาล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเชิงลึกทั้งที่เป็นข้อกฎหมาย และหลักการต่างๆอย่างรอบด้าน ซึ่งนอกจาก สศช.ยังต้องมีหน่วยงานอื่นๆเข้ามาร่วมศึกษาในเรื่องนี้ด้วยซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร รวมทั้งอาจมีการพิจารณาทางเลือกอื่นๆด้วย

‘สภาพัฒน์’ ยังไม่ชงขึ้นแวตรับสังคมสูงวัยชี้ศึกษารอบด้าน - ดูทางเลือกอื่น

“การพูดเรื่องการปรับเพิ่มแวตเพื่อนำมารองรับสังคมสูงวัยเป็นการพูดถึงข้อเสนอที่เคยมีในเรื่องนี้เป็นไอเดียร์หนึ่งที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติยังไม่ได้มีการนำไปเสนอต่อในระดับนโยบาย ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกให้รอบด้าน รวมทั้งศึกษาทางเลือกอื่นๆที่เป็นไปได้ก่อนด้วย”

นายดนุชากล่าวในระหว่างการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2566 ว่าในระยะต่อไปต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องแรงงานในหลายมิติรวมทั้งแรงงานผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาส2ปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน

ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีช่องว่างในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

รวมทั้งต้องมีการเตรียมพร้อมรับผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร