โลกแบ่งขั้ว! 'BRICS' รับสมาชิกเพิ่ม โจทย์ท้าทาย ‘ไทย’ สมัครเข้าร่วม

โลกแบ่งขั้ว! 'BRICS' รับสมาชิกเพิ่ม โจทย์ท้าทาย ‘ไทย’ สมัครเข้าร่วม

“นักวิชาการ” แนะไทยชั่งน้ำหนักเข้าร่วม BRICS แม้ประชากรมาก เศรษฐกิจใหญ่ แต่บทบาทเวทีโลกไม่มาก ถ่วงดุลดอลลาร์ยังไม่ได้ หวั่นเข้าร่วมเต็มตัวกระทบสัมพันธ์สหรัฐ สะเทือนแผนดึงเซมิคอนดักเตอร์เข้าลงทุน ควรเข้าร่วมฐานะผู้สังเกตการณ์ เฉพาะภาคการเงินที่มีธนาคาร "NDB"

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค.2566 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นที่น่าจับตาในไทยเมื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทย เดินทางไปร่วมในฐานะประเทศที่สนใจร่วมเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่ม BRICS Plus

ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ โดยกำลังจะพัฒนาเป็น BRICS Plus ซึ่งมีประเทศที่ยื่นสมัครเข้ามา 22 ประเทศ รวมถึงไทยด้วยและจะพัฒนาสกุลเงิน BRICS เพื่อลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์

ล่าสุดประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ประกาศ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ “บริกส์” เตรียมรับ 6 สมาชิกใหม่ปี 2567 ซึ่งรวมถึ ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และอิหร่าน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ แจ้งต่อการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมว่า ตัดสินใจเชิญอาร์เจนตินา, อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี เข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์และวิชาการอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงแนวคิดที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม "กลุ่ม BRICS" ซึ่งกำลังมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกและเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบันจากเดิมที่มีบทบาทเพียงแค่การรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อถ่วงดุลกับกลุ่มประเทศที่เป็นขั้วมหาอำนาจเดิม (G7) ที่มีสหรัฐและหลายประเทศในสหภาพยุโรปเป็นแกนนำในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่ม BRICS จะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น และมีฐานประชากรกว่า 40% ของประชากรโลก ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและลดการใช้ดอลลาร์ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจและกลไกทางการเงินที่กำหนดโดยสหรัฐ แต่ยังไม่สามารถลดบทบาทของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลกได้มากนัก

จับตาบทบาท BRICS ถ่วงดุลอิทธิพลอเมริกา 

อย่างไรก็ตามการรวมตัวกันในปัจจุบันถูกจับตาว่ากำลังเป็นการเคลื่อนไหวของหลายประเทศที่ต้องการรวมตัวกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มนี้มีรัสเซียและจีนให้ประเทศที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ถูกจับตาเป็นพิเศษจากสหรัฐ และจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐด้วย ซึ่งหากดูจากรายชื่อประเทศที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ล่าสุดล้วนเป็นประเทศที่มีสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับสหรัฐ เช่น คิวบาและอิหร่าน

รวมทั้งหากไทยเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS จะต้องระวัง คือ การดึงการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐที่อยากจะให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวติ้งค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสหรัฐเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีความพยายามเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีดังกล่าวที่ลงทุนในประเทศจีนออกไปลงทุนในประเทศอื่น หรือกลับไปลงทุนในสหรัฐ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่รัฐบาลสหรัฐจับตาเป็นพิเศษเพราะเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนที่ยาวมากในสหรัฐฯ

สหรัฐฯจำกัดการลงทุนไฮเทคโนโลยีในบางประเทศ

โดยรัฐบาลสหรัฐได้กำหนดให้การลงทุนของเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปลงทุนเฉพาะในประเทศที่สหรัฐไว้ใจเท่านั้น ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนก็จะมีประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่สหรัฐยินยอมให้เข้าไปลงทุน คือ เวียดนาม อินโดนิเซียและสิงคโปร์

ส่วนกรณีของไทยที่เราต้องการดึงการลงทุนในกลุ่มชิปและเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง จะต้องไม่เอาตัวเองไปอยู่เต็มตัวในกลุ่มความร่วมมือที่ประเทศสหรัฐเพ่งเล็งเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการที่จะดึงธุรกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐมาลงทุนในไทยได้

แนะไทยเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ยังไม่เข้าร่วมเต็มตัว

นายสมชาย กล่าวว่า การที่ไทยจะได้ประโยชน์จากกลุ่ม BRICS ในขณะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่สมัครเข้าไปร่วมในลักษณะของผู้สังเกตการณ์ (Observer) ก่อน เหมือนกับการเข้าไปดูว่าข้อดีข้อเสียของการเป็นสมาชิก BRICS และในเวทีความร่วมมือนี้มีลักษณะการทำงานและให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร

 ขณะที่ในส่วนของ BRICS ที่ไทยสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกได้ก่อน คือในส่วนของการเป็นสมาชิกของสถาบันการเงินของกลุ่ม BRICS ซึ่งมีการตั้งธนาคารของกลุ่มที่ชื่อว่า The New Development Bank (NDB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มและเปิดกว้างให้ประเทศต่างๆมาฝากเงิน หรือขอความช่วยเหลือทางวิชาการและทางการเงินได้ ซึ่งมองว่ารูปแบบนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า ในช่วงที่ BRIC ยังไม่ได้มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

“การเข้าร่วม BRICS เป็นเหรียญ 2 ด้าน ที่ไทยจะทั้งได้และเสียประโยชน์ เช่น นโยบายของสหรัฐพยายามถอนการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สหรัฐมีความเป็นผู้นำ ซึ่งบางบริษัทกลับไปลงทุนที่สหรัฐ แต่บางบริษัทออกไปลงทุนในประเทศอื่น”

ทั้งนี้ หากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิประดับเล็กมากระดับ2 นาโนมิลลิเมตร ซึ่งจีนเองยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ โดยสหรัฐจะให้ไปลงทุนเฉพาะในประเทศที่มีความไว้ใจว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐ ซึ่งหากไทยเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อาจกลายเป็นประเทศที่สหรัฐจับตาดูเพ่งเล็ง และไม่ยอมให้ลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย

เข้าร่วมกลุ่ม BRICS โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ DEEP Talk กรุงเทพธุรกิจ ถึงกรณีที่ไทยได้ยื่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ว่า เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพราะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เท่ากับเป็นการลดความสัมพันธ์กับสหรัฐลงจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ไทยเกิดกรณีปัญหากับสหรัฐที่มีความสัมพันธ์กันมานาน

“การรวมตัวของ BRICS คือ การเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มอำนาจการค้า โดยไทยเองควรเข้าไปเลียบๆเคียงๆ ไม่ควรจะไปในลักษณะที่ทำให้สหรัฐวิตกว่า เราทิ้งน้ำหนักไปทางจีนมากขึ้น แต่ว่ากลุ่ม BRICS ที่มีอำนาจต่อรองสูงทั้งในแง่วัตถุดิบ สินค้าเกษตร ปุ๋ย แร่ธาตุ จึงมีความเหมาะสมที่ไทยจะไปใกล้ชิด แต่อำนาจต่อรองระยะยาวจะมีแค่ไหน มองว่าอาจเป็นวัฎจักรของโลกที่สหรัฐมหาอำนาจที่โตในขณะนี้จะถึงจุดพีค หากว่าจีนดำเนินนโยบายอย่างแยบยล จะเป็นการถ่ายโอนความเป็นมหาอำนาจอำนาจได้อย่างราบรื่น”

ทั้งนี้ หากประเทศขนาดใหญ่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS มองว่า จะทำให้ปัญหาการเลือกข้างจะรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมากขึ้นทั้งจากกรณีเกิดฟองสบู่ในสหรัฐและการเกิดฟองสบู่ในประเทศจีนจากภาคอสังหาริมทรัพย์

จับตาฟองสบู่สหรัฐฯแตกไตรมาส 4 ปีนี้

นายธีระชัย ยังคาดการณ์ด้วยว่าฟองสบู่ในสหรัฐจะแตกราวไตรมาส 4 ปีนี้ ฉะนั้น ก็ต้องติดตามว่า ธนาคารกลางในยุโรปจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเดาว่าธนาคารกลางจะแก้ไขปัญหาด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์จะมีน้ำหนักน้อยลง ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจเข้ามาอยู่กลุ่ม BRICS มากขึ้น

สรท.หวังเป็นโอกาสเพิ่มตลาดส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เพราะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เพราะมีทั้งประเทศในแถบเอเชีย เอเชียใต้ แอฟริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเพิ่มโดยเฉพาะจีน และอินเดีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ น่าจะเป็นโอกาสไทยในแง่ของการเปิดตลาดใหม่ ในช่วงที่ตลาดหลักของไทยมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สหรัฐ ยุโรป

ขณะที่รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ก็ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจที่จะทำให้ไทยขยายตลาดไปกลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างไรก็ตามคงต้องพิจารณาในเรื่องของระยะทางโดยเฉพาะบราซิล และแอฟริกาใต้ ที่ค่าขนส่งอาจจะสูง สำหรับสินค้าชองไทยที่มีโอกาสก็น่าจะเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์

“กลุ่ม BRICS ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจของไทย เพราะบราซิล แอฟริการใต้ จะเป็นประตูสู่ประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้ ขณะที่รัสเซีย ก็จะเป็นประตูสู่ประเทศกลุ่มCIS ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้นได้” นายชัยชาญ กล่าว