วงษ์สยาม ฟ้องประธานบอร์ด กปน.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โครงการผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

วงษ์สยาม ฟ้องประธานบอร์ด กปน.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โครงการผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

“วงษ์สยาม” ฟ้องประธานบอร์ด กปน.กับพวก 30 คน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โครงการโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่ง 24 ส.ค.นี้

รายงานข่าวจากศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 30 คน 

ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 132/2566 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,83,151,157,368 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 120,121

คำฟ้องระบุว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการกปน.จำเลยที่ 2-15 เป็นกรรมการ กปน. จำเลยที่ 16 เป็นผู้ว่าการ กปน. (ตั้งแต่ ก.ย. 2563 - มิ.ย. 2565) จำเลยที่ 17 เป็นผู้ว่าการ กปน. (ตั้งแต่ ก.ค.2565- ปัจจุบัน จำเลยที่ 18 เป็นรองผู้ว่าการ กปน. จำเลยที่ 19 เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ กปน.ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าการการ กปน.ให้เป็นประธานกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 8 เเสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยมีจำเลยที่ 20-28 ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ จำเลยที่ 29 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการ ซื้อ ขาย ข้อมูลทางด้านกายภาพ ซึ่งมีจำเลยที่ 30 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 29

นอกจากนี้ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 20 กปน. ว่าจ้างให้จำเลยที่ 29 เป็นผู้ออกแบบงานก่อสร้าง ขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ขนาด 8 เเสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน กรมบัญชีกลางสรุปข้อมูลการเสนอราคาเบื้องต้น เรื่อง การประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ เลขที่โครงการ 64097059448 จำนวนผู้เสนอราคา 5 ราย ราคาต่ำสุดที่เสนอ 6,150 ล้านบาท ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่ำสุดในจำนวนผู้เสนอราคาทั้งสิ้น 5 ราย ดังนี้

1.โจทก์ราคาที่ยื่นเสนอคือ 6,150 ล้านบาท

2.บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ราคาที่ยื่นคือ 6,195,300,000 บาท

3.ITA Consortium ราคาที่ยื่นเสนอคือ 6,460,560,000

4.บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ราคาที่ยื่นเสนอคือ 6,523,800,000 บาท เเละกิจการร่วมค้าสี่แสงเอสจี ราคาที่ยื่นเสนอ 6,525 ล้านบาท

จำเลยที่ 16 และจำเลยที่ 19 -23 กับพวก ทุจริตพิจารณาตัดคุณสมบัติของบริษัทโจทก์ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้วย การแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างแก่โจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสอบเพราะคุณสมบัติไม่ครบถ้วน โดยแจ้งว่าโจทก์มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดในการประกาศประกวดราคา

ทั้งที่โจทก์มีผลงานการก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำ สำหรับระบบผลิตน้ำประปาพร้อมงานที่เกี่ยวข้องขนาดไม่น้อยกว่า 1 เเสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในสัญญาเดียวกันวงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

และเป็นสัญญาที่ได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่การประปานครหลวงเชื่อถือ โดยต้องมีหนังสือรับรองผลงาน สำเนาสัญญา และบัญชี ปริมาณงาน มาแสดงตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคาแล้ว

จำเลยที่ 16,19-23 กับพวกได้พิจารณาตัดคุณสมบัติโดยมิได้พิจารณาจากเกณฑ์ราคา และได้ประกาศให้บริษัท ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงเป็นอันดับ 3 ในจำนวนผู้เสนอราคาทั้งสิ้น 5 ราย สูงกว่าโจทก์ถึง 310,560,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้อุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว

ทั้งนี้ ได้ยืนยันข้อเท็จจริงต่อ กปน.ว่า โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขประกาศประกวดราคาแล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ) แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ให้แก่ กปน. ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาแล้วเห็นว่าผลงาน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เป็นกรณีที่โจทก์ผู้อุทธรณ์ยื่นข้อเสนอเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ผู้อุทธรณ์ฟังขึ้น จึงให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป

จำเลยที่ 16,19-23,24 กับพวก ทุจริตบังอาจจงใจไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ โดยมิชอบด้วยกฎหมายขอให้จำเลยที่ 29 ในฐานะผู้ออกแบบงานก่อสร้างตรวจสอบเอกสารผู้ยื่นข้อเสนอประกวดราคาทุกรายอีกครั้งตามความประสงค์ของ ITA Consortium ทั้งที่จำเลยที่ 16 เคยมีหนังสือให้จำเลยที่ 29 ตรวจสอบยืนยันการใช้รายการเครื่องจักรและอุปกรณ์ภาคผนวก “ช” ของโจทก์มาแล้วตามมาตรฐานเดียวกันกับการตรวจสอบ ITA Consortium, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

ที่จำเลยที่ 29 ตรวจสอบก่อนการประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในครั้งแรก โดยที่จำเลยที่ 16, 20 และ 30 ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 29 ได้พิจารณาตรวจสอบเอกสารภาคผนวก “ช” ทั้งหมด 3 ครั้ง ในการทดสอบครั้งที่ 1 เป็นการตรวจสอบภาคผนวก “ช” ของผู้ยื่นขอเสนอทั้ง 5 ราย พร้อมเสนอประเด็นข้อสงสัย ครั้งที่ 2 เป็นการตรวจสอบเอกสารภาคผนวก “ช” ของผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติผ่านตามเงื่อนไขในการประกวดราคาจำนวน 2 ราย

ได้แก่ ITA Consortium และบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นข้อสงสัย และการตรวจสอบครั้งที่ 3 โดยตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย ได้แก่ โจทก์ และบริษัท ชิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยตรวจสอบประเด็นข้อสงสัย ซึ่งในการตรวจสอบได้ใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันกับการตรวจสอบเอกสารภาคผนวก “ช” ครั้งที่ 2 โดยผ่านประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

และทำหนังสือหารือกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับเรื่องประเด็นเรื่องคุณสมบัติของโจทก์ในส่วนที่เป็นรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่มีผลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น แทนที่จะกลับไปดำเนินการพิจารณาเกณฑ์ราคาต่อไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนโจทก์มีหนังสือนำส่งถึงจำเลยที่ 17, 1, 2, 4 -10, 12-18 ซึ่งเป็นกรรมการกปน. ขอให้เร่งรัดการพิจารณาให้โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ลงนามสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐตามที่ได้หารือกรมบัญชีกลาง

จำเลยที่ 1-15 ได้รับหนังสือและทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว เพิกเฉยไม่ดำเนินการทั้งที่เป็นหน้าที่โดยตรง จำเลยที่1-18 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1-18 เป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งหน้าที่ตามฟ้องร่วมกันทำความผิดเป็นเจ้าพนักงาน กปน. เป็นพนักงานของรัฐประเภทและวิสาหกิจมีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในทางมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุให้เกิดความเสียหายแก่กปน.ผู้เสียหายโจทก์ รัฐ ผู้อื่นประชาชนหรือการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุโดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานซื้อ ทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำเหน่งหน้าที่โดยทุจริต

สำหรับสาเหตุที่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้ง 30 ต่อพนักงานสอบสวน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะประสงค์ที่จะดำเนินคดีด้วยตนเอง ขอศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 29 ส.ค.2566 เวลา 09.30 น.