เอกชนหนุนเปิดเจรจา FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก

เอกชนหนุนเปิดเจรจา FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผลศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) พบ ช่วยทำให้ GDP ของไทยขยายตัว0.04 % เพิ่ม ดันมูลค่าการค้าโต 16.75% ชี้ กลุ่ม PA จะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทย ด้านเอกชนหนุน ชี้ ช่วยไทยขยายตลาดไปยังลาตินอเมริกา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) ว่า กรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ประโยชน์และผลกระทบในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา คือ ชิลี เปรู โคลอมเบีย และเม็กซิโก  ซึ่งพบว่า การทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA คาดจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย เพิ่มขึ้น 0.04% ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์  และมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับกลุ่ม PA เพิ่มขึ้น 16.75% ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกเพิ่มขึ้น 4.70% มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 44.67% มูลค่า 840 ล้านดอลลาร์ทั้งนี้ กลุ่ม PA จะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสินแร่ และสัตว์น้ำ   

นอกจากนี้ ผลการศึกษาประเมินว่า สินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับประโยชน์ อาทิ ธัญพืช พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของทำด้วยยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าที่ต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ได้แก่ ปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สินแร่ ตะกรันและเถ้า เฟอร์นิเจอร์ โลหะต่างๆ และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสาขาบริการของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ การท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร การค้าส่งค้าปลีก และการก่อสร้าง ส่วนสาขาบริการที่ต้องปรับตัว อาทิ การขนส่ง สื่อ และการบริการธุรกิจอื่นๆ 

เอกชนหนุนเปิดเจรจา FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับชิลี และเปรู แต่ยังไม่มี FTA กับเม็กซิโกและโคลอมเบีย โดยกลุ่ม PA มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก มี GDP รวมกันคิดเป็น 36% ของภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีประชากรรวมกันกว่า 225 ล้านคน

สำหรับในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม PA มีมูลค่า 6,239.99 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปกลุ่ม PA มูลค่า 4,359.74 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากกลุ่ม PA มูลค่า 1,880.25 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.เห็นด้วยกับการที่ไทยจะทำFTA กับกลุ่ม PA แม้ว่า ไทยจะมี FTA กับประเทศเปรู และชิลี แล้ว แต่การมี FTAกับกลุ่ม PA จะต้องพิจารณาถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกับประเทศเปรูและชิลีให้ชัดเจนว่า สิทธิประโยชน์เดิมที่ได้จะต้องยังคงอยู่เหมือนเดิม หรือควรจะได้มากขึ้น แต่อุปสรรคสำหรับการส่งออกไทยคือ การขนส่ง เนื่องจากระยะทางไกล ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งสูง แม้จะมี FTA แต่ก็ไม่ได้ช่วยกดดันให้ค่าระวางเรือลดลง เพราะเราไม่มีกองเรือ แต่อาจแก้ไขได้โดยการรวมกลุ่มการส่งสินค้าซึ่งจะลดค่าระวางเรือลงได้

นางเพ็ญศิริ ดิษยเดช ประธานหอการค้าเม็กซิกัน-ไทย กล่าวว่า  การมี FTAกับกลุ่มPA ทำให้ไทยขยายตลาดไปในประเทศกลุ่มนี้ ซึ่งขณะนี้เวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทยถือเป็นประเทศที่กำลังมาแรงในการเป็นส่งออกสินค้าเข้าทศกลุ่มPA  หากไทยสามารถเปิดเจรจาได้ก็จะเป็นการเพิ่มตลาด และศักยภาพในการส่งออกสินค้าของไทยได้มากขึ้น

โดยเฉพาะประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการร่วมกันทางกรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เม็กซิโก จัดกิจกรรมการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและเม็กซิโกทุกๆปี เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทย หากมี FTA  ก็จะช่วยในเรื่องของลดกำแพงภาษีได้ โดยโอกาสสินค้าที่จะเข้าไปในเม็กซิโกยังมีมีอีกมากนอกเหนือจากยานยนต์ ยาง ยังมีสินค้าพวกเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง