ราคาข้าวไทยส่งออกพุ่ง เดือนเดียวสูงขึ้น 100 ดอลลาร์

ราคาข้าวไทยส่งออกพุ่ง เดือนเดียวสูงขึ้น 100 ดอลลาร์

สมาคมผู้ส่งออกข้าว เผย หลังอินเดียห้ามส่งออกข้าว ดันราคาข้าวไทยเดือนเดียวสูงขึ้น 100 ดอลลาร์ ข้าวหอมไทยพุ่งมากสุด 145 ดอลลาร์ ตามด้วยข้าวขาว 5% ราคาสูงขึ้น 100 ดอลลาร์ ห่วงการส่งออกครึ่งปีหลังผันผวน

หลังจากที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอในการบริโภค และทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นสูงขึ้น

รวมทั้งสต๊อกข้าวโลกปี 2566/67 มีแนวโน้มลดลง โดย World Grain Situation and Outlook ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) เดือน พ.ค.2566 ประเมินว่า อยู่ที่ 166.68 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีการผลิตก่อนหน้า 8.56%

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานสถานการณ์ราคาข้าวส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา แบ่งได้ดังนี้

1.ข้าวหอมมะลิไทย (ปีการผลิต 2564/65)  ชนิดพิเศษ ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 1,056 ดอลลาร์ ลดลงจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 1,059 ดอลลาร์ หรือลดลง 3 ดอลลาร์ 

2.ข้าวหอมมะลิไทย (ปีการผลิต 2565/66) ชนิดพิเศษ ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 953 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 925 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 28 ดอลลาร์ 

3.ข้าวหอมไทย ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 806 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 661 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 145 ดอลลาร์ 

4.ข้าวสาร 100 % ชั้น 2 ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 664 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 549 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 115 ดอลลาร์

5.ข้าวสาร 5% ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 648 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 534 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 114 ดอลลาร์

6.ข้าวสาร 25% ราคาวันที่ 9 ส.ค.2566 ตันละ 612 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่มีราคาตันละ 512 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 100 ดอลลาร์

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบราคาข้าวไทยกับเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญพบว่าราคาข้าวไทยยังคงสูงกว่าเวียดนาม โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 648 ดอลลาร์ เวียดนามตันละ 618-622 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาข้าวขาว 25% ของไทยอยู่ที่ตันละ 612 ดอลลาร์ และเวียดนามอยู่ที่ตันละ 598-602 ดอลลาร์

นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวครึ่งหลังปี 2566 สถานการณ์ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากรัฐบาลอินเดียสั่งยุติส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ และสกัดกั้นการขึ้นราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกหยุดชะงักเพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะหลังจากประกาศแล้วราคาข้าวดีดขึ้นทันที

สำหรับการส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง 2566 จะถึง 4 ล้านตัน โดยครึ่งปีแรกส่งออกได้ 4.2 ล้านตัน รวมแล้วทั้งปีได้ถึง 8 ล้านตัน ตามเป้าหมาย แต่ต้องดูสถานการณ์ระหว่างนี้ 

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่าการส่งออกครึ่งปีหลังไม่แน่นอนไม่ราบรื่น โดยเฉพาะนโยบายอินเดียที่อาจขายให้ประเทศที่ร้องขอในราคาที่ไม่แพงจะแย่งตลาดไทย

ขณะที่เวียดนามในครึ่งปีแรกส่งออกข้าวไปมาก ดังนั้นในครึ่งปีหลังอาจส่งออกน้อยลงไม่ถึง 3 ล้านตัน แต่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวเวียดนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมว่าจะส่งออกข้าวเหมือนเดิมหรือไม่ จะมีข้าวพอบริโภคภายในประเทศหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายจะส่งออกเหมือนเดิมแต่ปริมาณยังไม่แน่นอน และถ้าเวียดนามแบนการส่งออกจะดันราคาข้าวขึ้นตันละ 1,000 ดอลลาร์ แม้จะส่งผลดีต่อข้าวไทย แต่ราคาสูงจะทำให้ขายข้าวได้ลำบาก

 

ส่วนปัญหาเอลนิโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงต้องติดตามผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไทย ซึ่งช่วงนี้ยังมีฝนตกดีจึงรอดูเดือน ก.ย.เป็นต้นไปที่ยังคาดไม่ได้ ทำให้รอดูข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค.2566 และหากฝนทิ้งช่วงจะมีความเสียหายต่อข้าวได้

“ปกติไทยปลูกข้าวได้ 20 ล้านตันข้าวสาร บริโภคภายในประเทศ 10-12 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก 7-8 ล้านตัน แต่หากเอลนีโญ่กระทบแรงทำให้ปริมาณข้าวลดลง 1-2 ล้านตันก็ยังส่งออกได้โดยราคาจะแพงขึ้นแต่คงไม่ถึงขั้นแบนส่งออก”

ส่วนค่าเงินบาทเป็นปัจจัยสำคัญเพราะผันผวนจึงกำหนดราคาขายข้าวลำบาก เนื่องจากมาร์จิ้นน้อยมากไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมที่มาร์จิ้นมากกว่า ดังนั้นผู้ส่งออกข้าวต้องการเสถียรภาพค่าเงินบาทเพราะเงินบาทแข็งค่าทุก 1 บาท มีผลต่อราคาข้าว 15 ดอลลาร์ต่อตัน

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีอินเดียระงับส่งออกข้าวส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า และการส่งออกปีนี้จะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวนาที่มีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กังวลผลกระทบเอลนีโญที่จะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และมีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือปัญหาผลผลิตลดลง