'นักธุรกิจ' เรียกร้องนักการเมือง ยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

'นักธุรกิจ' เรียกร้องนักการเมือง ยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

“หอการค้า” แนะนักการเมืองยึดผลประโยชน์ชาติ ส.อ.ท.เสนอถอยคนละก้าว เพื่อให้ประเทศเดินหน้า “ทีดีอาร์ไอ” เร่งตั้งให้ได้อย่างช้า ก.ย.นี้

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ปรากฎว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่จัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ เพราะนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะ สว.ที่งดออกเสียง ซึ่งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดความล่าช้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในขณะที่การเมืองมีความซับซ้อนขึ้นจากการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคุณสมบัติของนาายพิธา รวมทั้งให้พิจารณาประเด็นที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 รวมถึงการสลับแกนนำตั้งรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลมาเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการเจรจากับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลชุดที่แล้ว และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เลื่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ออกไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการหารือในคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ยืนยันว่าต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามไทม์ไลน์ภายในเดือน ส.ค.2566 โดยคาดหวังว่าการโหวดเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีความคืบหน้าและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกรอบไทม์ไลน์ที่ภาคเอกชนเคยประเมินไว้ว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงและผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับที่ยังพอรับได้ แต่หากล่าช้าไปมากกว่านั้นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นและยังประเมินไม่ได้ว่าจะสร้างความเสียหายแค่ไหน

“ขอให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละครึ่งก้าวเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอและจับตาสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลังจากวันเลือกตั้ง” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยง รวมทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยแล้ง ซึ่งหากไทยยังขาดผู้นำที่เข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกวินค้าเกษตร รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ

"กกร.ได้ยื่นสมุดปกขาวให้กับภาคการเมืองไปแล้ว ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่อยากจะเน้นย้ำคือเรื่องโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะค่าไฟที่ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันลำบาก รวมทั้งค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้สูงกว่า 90% ของจีดีพี ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบต่างหากอีก 20% ซึ่งกดทับกำลังซื้อของคนในประเทศ ทั้งหมดนี้ต้องเร่งแก้" นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากนี้ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลยังมีผลกระทบถึงการลงทุนภาครัฐ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 ซึ่งในช่วงรักษาการจะอนุมัติโครงการไม่ได้จึงทำให้ทุกกระทรวงต้องชะลอโครงการใหม่ เพื่อรอรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ

รวมแล้วทำให้อาจต้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันรักษาการนาน 5-6 เดือน และเมื่อการลงทุนภาครัฐชะลอจะทำให้การลงทุนเอกชนชะลอด้วย

“สนั่น”ขอให้นักการเมืองยึดผลประโยชน์ชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลใหม่ควรเสร็จในเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 หากเป็นไปตามไทม์ไลน์นี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ถือว่าช้าเกินไป โดยหวังว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง โดยภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่คงต้องเร่งจัดทำงบประมาณประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อดึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เชื่อว่าน่าจะสามารถเร่งดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ทันที เพราะพรรคเพื่อไทยเคยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารประเทศมาก่อน และหลายนโยบายก็สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ที่กำหนด ซึ่งประเมินว่าจะมีผลกระทบที่สำคัญอย่างน้อย 5 ประเด็น ได้แก่ 

1.ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าหากรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลง 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังรอมาตรการช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุนจะได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีความชัดเจนของชุดมาตรการใหม่ๆ ที่จะออกมาช่วยเหลือ โดยหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามาก SMEs บางรายอาจจะหยุดกิจการ หรือปรับลดการจ้างงาน ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

2.ขณะนี้ภาคเกษตรไทยยังเติบโตได้ดี แต่ปัญหาภัยแล้งในปี 2566 มีสัญญาณจากเอลนีโญชัดเจนขึ้น รวมทั้งถ้าไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจังจะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร 

3.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่ยังค้างท่อและการจัดงบประมาณประเทศล่าช้า ซึ่งแม้จะใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ประเทศไทยต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาการตัดสินใจ และการวางมาตรการเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศในช่วงเวลานี้

4.ปัญหาค่าพลังงานงานสูง และต้นทุนต่างๆ ยังคงอยู่ระดับสูง ซึ่งส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชน 

5.ความชัดเจนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงต้องติดตามทิศทางและความชัดเจน ซึ่งจะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามา

“ทีดีอาร์ไอ”แนะเร่งตั้งรัฐบาลให้ได้ใน ก.ย.นี้

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การตั้งรัฐบาลล่าช้ากำลังเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย โดยหากยังสามารถที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้ง ครม.บริหารประเทศได้ภายใน 3 เดือน คือ ประมาณเดือน ก.ย.2566 มองว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไม่มากนัก แม้ว่าจะมีงบประมาณการลงทุนบางส่วนที่เบิกจ่ายล่าช้า แต่ในส่วนของงบประมาณที่มีการผูกพันงบประมาณไว้แล้วสามารถเบิกจ่ายได้

ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนอื่นคาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 2 ของปี 2567 ซึ่งต้องมีการเร่งรัดการเบิกจ่าย แต่คาดว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไม่มากนักหากยังอยู่ในกรอบเวลานี้

"ถ้าได้รัฐบาลใหม่ภายในเดือน ก.ย.ผมมองว่าผลกระทบไม่มากนัก เพราะงบลงทุน ถ้าเป็นโครงการที่ผูกพันมาก่อนก็ทำต่อได้ ส่วนการลงทุนใหม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ซึ่ง 3 เดือนจะไม่ถือว่าส่งผลกระทบมาก"นายนณริฏ กล่าว