สศอ. รับยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งฉุด MPI ปี 66 ติดลบหนักกว่าเดิม

สศอ. รับยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งฉุด MPI ปี 66 ติดลบหนักกว่าเดิม

สศอ. คาดการดัชนี MPI ปี 66 ติดลบต่ำกว่าปี 65 หวั่นจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ-การค้า-ลงทุน เผย เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันดัชนี MPI 6 เดือนแรก ปี 66 หดตัว 4.60% อุตฯ รถจักรยานยนต์ขยายตัว ยอดผลิตปีนี้ผลิตทะลุ 2.1 ล้านคัน 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ครึ่งปีหลังจากนี้ จะต่ำลงแน่นอน ซึ่งจากที่เคยประมาณการณ์ MPI ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาในช่วง 6 เดือน ผู้ประกอบการมีความกังวลในเรื่องของทั้งค่าพลังงาน และอัตราดอกที่เบี้ยสูงมาก รวมถึงมาตรการในการส่งเสริมการค้าของประเทศคู้ค้าสำคัญที่กำลังจะออกมา เป็นต้น ปัจจัยหลายอย่างที่รุมเร้า จะส่งผลให้ MPI ติดลบต่ำกว่าปี 2565 แน่นอน 

อย่างไรก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก จะมีผลกระทบในเรื่องของการอนุมัติมาตรการสำคัญที่ได้เตรียมไว้ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องชะลอตัวตามไปด้วย เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่ อาทิ มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.5 มาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ ที่จะพยุงภาคการท่องเที่ยวที่จะมา และการผลิตในประเทศ จะชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ซึ่ง สศอ.จะขอให้ตัวเลขว่าจะต่ำลงเท่าไหร่อีกครั้งในเดือนหน้า แต่ยืนยันว่าติดลบแน่นอน 

"หากการเมืองรากยาว 10 เดือน ตัวมาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์ การค้า ลงทุน ของครึ่งปีหลังยังไม่ได้รับการพิจารณา หากต้องรอนานมีผลกระทบแน่นอน ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลว่าการแก้ไขสถานการณ์ที่ยังรออยู่ ซึ่งมีส่วนทางจิตวิทยา เพราะดูแค่จากภาพใหญ่ไม่เกี่ยวกับการเมือง คำสั่งซื้อที่ลดลงมาจากปัจจัยภายนอกทั้งต้นทุนพลังงานที่สูงก็ทำให้ติดลบอยู่แล้ว และหากยิ่งจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามากแค่ไหนก็มีส่วนกระทบมากขึ้นเท่านั้น"

นางวรวรรณ กล่าวว่า สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิ.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลง 5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.12 ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.14 ลดลง 5.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ 

ส่วนรายได้เกษตรกรในเดือนมิ.ย. 2566 ลดล 5.99% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สุรา กาแฟ

สศอ. รับยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งฉุด MPI ปี 66 ติดลบหนักกว่าเดิม

สำหรับดัชนี MPI รอบ 6 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลง 4.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.72% อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.23% จากการผลิตรถยนต์นั่งเป็นหลัก รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.76% เนื่องจากปีนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน 

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.88% เป็นผลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.61% เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

จักรยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.96% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ คือ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทย เป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2,974 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก คือ เบลเยี่ยม จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ได้แก่ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ มีกําลังซื้ออย่างต่อเนื่อง นโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยให้การส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า 248 ซีซี. ของบริษัทรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย 

นอกจากนี้ ประเทศไทยมี Supply Chain ตลอดห่วงโซ่ และแรงงานในประเทศที่มีทักษะฝีมือในด้านการผลิต และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีการคาดการณ์ ในปี 2566 ว่าจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,100,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,750,000 คัน และผลิตเพื่อการส่งออก 350,000 คัน

"เรามีแรงงานทักษะฝีมือดีเยอะ อีกทั้งปีหน้าผู้ผลิตที่รับมาตรการสนับสนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3 ราย มีแผนจะผลิต ส่วนนี้จะเพื่มเข้ามาหนุนด้วย จากยอดจองสั่งซื้อรวม 4.4 พันคัน และจะขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง" 

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนมิ.ย. 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.37% จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น เอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป เป็นต้น

พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.64% จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin, Ethylene และ Benzen เป็นหลัก จากการเร่งผลิตชดเชยหลังการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเดือนก่อนหน้า รวมถึงการหยุดผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน

จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.88% เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก 

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.64% จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการใช้หลังการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากปีก่อนกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.35% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและกากน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากการปิดหีบเร็วกว่าปีก่อนทำให้สามารถละลายน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายชนิดต่าง ๆ เพื่อส่งมอบได้มากกว่าปีก่อน