'พลังงาน' ชี้ ค่าการตลาดน้ำมันอิงตลาดโลก เฉลี่ยราคา 'เบนซิน-ดีเซล' เหมาะสม

'พลังงาน' ชี้ ค่าการตลาดน้ำมันอิงตลาดโลก เฉลี่ยราคา 'เบนซิน-ดีเซล' เหมาะสม

"พลังงาน" แจงแนวทางการปฏิบัติดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมระบุ ราคาน้ำมันดิบยังผันผวน ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล ดันให้อยู่ที่ระดับ 2.44 บาทต่อลิตร 

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีกรอบในการบริหารค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทุกผลิตภัณฑ์ที่กรอบ 2 บาทต่อลิตร โดยจะมีโครงสร้างราคาแนะนำที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นข้อมูลเพื่อให้ กบน. ประกาศปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซล และก่อนที่ผู้ค้าน้ำมันจะประกาศปรับราคาในระหว่างวัน ซึ่งจะมีผลในวันถัดไป  เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนถึงแม้จะไม่รุนแรงเช่นในปีที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันแนะนำที่ สนพ. จัดทำขึ้นมีความผันผวนไปในแต่ละวัน ดังนั้น การพิจารณาค่าการตลาดเป็นรายวันและรายผลิตภัณฑ์อย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง คงต้องนำมาถัวเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ซึ่งรวมถึงปริมาณการใช้เพื่อมาคำนวณให้ได้ค่าการตลาดเฉลี่ยโดยรวมทุกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 ค่าการตลาดเฉลี่ยโดยรวมทุกผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 2.14 บาทต่อลิตร ปี 2565 อยู่ที่ 1.78 บาทต่อลิตร และในปี 2566 ตั้งแต่เดือนม.ค. – พ.ค. อยู่ที่ 2.30 บาทต่อลิตร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าค่าการตลาดน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ในบางครั้งจะสูงต่ำกว่าที่ กบง. กำหนดไว้ได้บ้างตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกและปริมาณการใช้น้ำมันแต่ละชนิด จึงขอให้มั่นใจได้ว่า กบน. ยังคงยึดมั่นในการดำเนินการตามกรอบนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 

"ปัจจุบันแม้ว่าฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ จะยังคงติดลบ แต่ก็มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ และสามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลง แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนด้วยปัจจัยกำลังการผลิตของกลุ่มโอกเปก และความกังวลในเศรษฐกิจที่ยังคงถดถอย  โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในตลาดโลกช่วงม.ค. – มิ.ย.  2566 อยู่ที่ 98.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 29.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากช่วงสิ้นปี 2565"

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า  สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มผันผวน หลังเขตเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ จึงต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์หลังอิสราเอลโจมตีเมือง Jenin ในเขต West Bank ของปาเลสไตน์ด้วยโดรนเป็นครั้งที่ 2 รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมามีความไม่แน่นอนอีกครั้ง ทำให้ตลาดกลับมาจับตาผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันมากขึ้น

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ช่วงวันที่ 26 มิ.ย.-6 ก.ค. 2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 75.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 69.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 0.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้หลังประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในยุโรปยังคงรุนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 กว่า 3 เท่า ทำให้มีความจำเป็นในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น

โดยตลาดคาดว่าการประชุมในเดือน ก.ค. 2566 ธนาคารกลางยุโรป มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกร้อยละ 0.25 และจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนก.ย. หรือ ต.ค. 2566 อีกทั้ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงส่งสัญญาว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 2566 แม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 2566 จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้ตลาดทั่วโลกกังวลต่อสถาวะเศรษฐกิจถดถอย และกระทบกับความต้องการใช้เชื้อเพลิง    

สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย แบ่งเป็น

ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 86.20 เดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 88.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 2.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 2.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล         

ทั้งนี้ Petroleum Association of Japan (PAJ) ได้รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.22 ล้านบาร์เรล ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 222 ล้านบาร์เรล และ Insights Global ได้รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam- Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.28 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.42 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 92.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 92.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  โดย International Enterprise Singapore (IES) ได้รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.98 ล้านบาร์เรล และ EIA ได้รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มิ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 114.4 ล้านบาร์เรล

สำหรับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.52 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 35.5747 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นลดลง 0.19 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.11 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.44 บาทต่อลิตร 

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 16 ก.ค. 2566 ติดลบ 49,829 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 4,316 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 45,513 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 40,175 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 90,004 ล้านบาท