สนค. เปิดผลศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ-จีน แนะไทยตักตวงผลประโยชน์

สนค. เปิดผลศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ-จีน แนะไทยตักตวงผลประโยชน์

สนค.จับมือม.ธรรมศาสตร์  ศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน รหว่างสหรัฐกับจีน พบกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำส่วนแบ่งตลาดสหรัฐ-จีนลดลง และโยกย้ายฐานการผลิต เตรียมความพร้อมด้านแรงงานรับย้ายฐานการผลิตพร้อมกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดอื่น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า สนค.ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย”  โดยโจทย์สำคัญของการศึกษาคือ สงครามการค้าของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปจีน และได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกับการค้าการลงทุนของโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน

จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามการค้าและทำให้เกิดการแยกห่วงโซ่อุปทาน คือ สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมาย Chip and Science Act 2022 เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ โดยการให้เงินอุดหนุนอย่างมหาศาล และผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การใช้นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ต้องออกมาตรการในการดึงดูดการลงทุน รวมถึงป้องกันไม่ให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากประเทศตน โดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทวีความสำคัญในแทบทุกสินค้า

ความพยายามแบ่งแยกอุปทานดังกล่าวจึงน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างกับโครงสร้างการผลิต การค้า และการลงทุนของโลก ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ไทยควรติดตาม ประเมิน และเตรียมแนวทางดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

ทั้งนี้ผลการศึกษา พบว่า Decoupling ที่เกิดขึ้น ทำให้สหรัฐฯ และจีน มีบทบาทในฐานะประเทศคู่ค้าต่อกันและกันลดลง  โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นแทนที่  สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 เช่น เครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกรูป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์  ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถเข้าตลาดจีนได้เพิ่มมากนัก โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดจีนทรงตัวที่ประมาณ 2 %ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขยายตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเวียดนาม และมาเลเซีย

อีกทั้งไทยยังได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนจากจีนในกลุ่มยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ แต่มูลค่าการลงทุนในไทยน้อยว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนส่วนใหญ่

บทวิเคราะห์แผนที่การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ พบว่า บริษัทจำนวนมากชะลอการลงทุนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญท่ามกลางการแยกห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการผลิตชิป ไม่ใช่เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสารเคมีพื้นฐาน  และการลงทุนที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศ 

ที่ผ่านมา Decoupling ยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานในลักษณะที่ทำให้เกิดการหันเหแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบทบาทของจีนที่มีอยู่ก่อน การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกันชิ้นส่วนอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์) ซัพพลายเออร์ในจีนพยายามเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ  

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ Decoupling ส่งผลดีต่อชิ้นส่วนรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยสามารถขยายตัวในตลาดชิ้นส่วนทดแทน (Aftermarket) ได้มากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบในส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ เพราะรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีการแบ่งเขตการขาย ไทยอยู่ในโซนอาเซียนและโอเชียเนีย จึงไม่ได้อานิสงส์ในการเข้าตลาดสหรัฐฯ แต่อย่างใด  ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตในประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจึงยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่าไทยต้องเตรียมการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิตโดยเฉพาะประเด็นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อตักตวงประโยชน์จาก decoupling ที่เกิดขึ้น เรื่องดังกล่าวต้องทำอย่างเป็นระบบที่มีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่สอดรับกัน  

นอกจากนั้นไทยจำเป็นต้องเดินหน้ากระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มกระจุกตัวสูง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ และมียุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน รวมไปถึงการดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในประเทศ  

“หัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขัเคลื่อน มีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบายที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว”  นายพูนพงษ์ กล่าว