'เอกชน' จับตาโหวตนายกฯ รอบ 2 หวั่นยื้อตั้งรัฐบาลซ้ำเติมเศรษฐกิจ

'เอกชน' จับตาโหวตนายกฯ รอบ 2  หวั่นยื้อตั้งรัฐบาลซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ภาคเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์ จับตาตั้งรัฐบาลใหม่ใกล้ชิดวันต่อวัน หลัง “พิธา” ไม่ผ่านโหวตครั้งแรก กระทบท่องเที่ยว-ชะลอลงทุน ทุบเศรษฐกิจไทยดิ่ง โบรก เกาะติดโหวตรอบใหม่ ม.หอการค้า ห่วงตั้งรัฐบาลช้าฉุดจีดีพีเหลือ 2.5-3.0% ธุรกิจอสังหาฯ หวั่นงบประมาณปี 67 ล่าช้า

การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องยืดเยื้อออกไป โดยรัฐสภาจะมีการนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

รวมทั้งสถานการณ์เลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและการจัดทำงบประมาณปี 2567

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะเป็นช่วงการทำหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ โดยประเมินว่าถ้าตั้งไม่ได้จนถึงเดือน ต.ค.2566 และเกิดการประท้วงจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 2.5-3.0%

ทั้งนี้ หากมองในแง่บวก การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้มีโอกาสเศรษฐกิจขยายตัว3.6-4.0% ก็อาจเป็นไปได้ หากไม่มีการประท้วงนอกสภาฯ

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยต่อเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเป็นความกังวลควบคู่ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อผู้บริโภคว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะส่งกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในที่สุด

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากการเมืองที่ยืดเยื้อ มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน จากเดิมที่เศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นหากยิ่งไม่มีความชัดเจน จากการจัดตั้งรัฐบาล อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น และการลงทุนของเอกชนให้ชะลอตัวได้

โดยขณะนี้แรงขับเคลื่อนเดียวของเศรษฐกิจไทย คือการท่องเที่ยว แต่หากสถานการณ์ลากยาว แถมลามให้เกิดการประท้วง จนนำไปสู่ความไม่สงบในประเทศ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวทันที ยิ่งเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

“วันนี้เราแทบไม่เหลือ แรงหนุนเศรษฐกิจ ยิ่งมีผลกระทบเข้ามาอีก จากความไม่แน่นอนทางการเมือง การประท้วง กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนแน่นอน ในอดีตพอมีปัญหาทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้น คือการชะลอการบริโภค การท่องเที่ยว ดังนั้นน่าห่วง”

“ซีไอเอ็มบี”เปิด3ผลกระทบจากการเมือง 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันต้องจับตาใกล้ชิดวันต่อวัน และวันนี้อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าข้อสรุปจะไปทิศทางไหน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามบนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการเมืองไทยอาจถึงทางตัน ที่ไม่สามารถเลือกนายกได้ จนไม่สามารถมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศลากยาวออกไป เชื่อว่าผลกระทบจะมี 3ด้าน

1.กระทบการลงทุนภาครัฐที่อาจหดตัวกว่าที่คิด จากเดิมที่คาดรัฐบาลตั้งใน ส.ค.นี้ หากเลื่อนไปไม่ทันไตรมาส 3 หรือหากลากยาวถึงปลายปีหรือปีหน้า จะกระทบการใช้จ่ายภาครัฐและงบประมาณภาครัฐที่จะไม่มีแรงขับเคลื่อนส่วนนี้เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจไม่เห็นการลงทุนใหม่จากภาครัฐ รวมถึงกระทบการก่อสร้างของภาคเอกชนให้ชะลอตัว

2.กระทบความเชื่อมั่นตลาดเงินและภาคการลงทุน เพราะขณะนี้เป็นห่วงที่โลกมีการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะจีนที่เข้ามาอาเซียนมาขึ้น หากประเทศไทย ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง อย่างมีเสถียรภาพ อาจกระทบทำให้ทุนใหม่ๆ ไม่เลือกเข้ามาลงทุนไทย และย้ายฐานการผลิตไปอินโดฯ เวียดนามได้ ดังนั้นหากสถานการณ์การเมืองล่าช้า เราอาจสูญเสียโอกาสในการเปิดรับการลงทุนใหม่ๆได้ในช่วง 1-2เดือนข้างหน้านี้ รวมถึงอาจไม่เห็นการลงทุนใหญ่ หรือลงทุนเครื่องใหญ่ๆในระยะอันใกล้นี้

3.ครัวเรือนที่จะถูกกระทบแน่นอน แม้ไม่มีประท้วงทางการเมือง แต่ปัจจุบันกำลังซื้อระดับล่างชะลอตัว ฟื้นตัวเฉพาะระดับกลาง ระดับบน ดังนั้นหากไม่เข้ามาพยุงเศรษฐกิจจะทำให้ภาคครัวเรือนยิ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคเกษตรและเอสเอ็มอีที่มีปัญหา และถ้าไม่มีมาตรการรัฐบาลเข้ามาเยียวยาจะทำให้เปราะบางมากขึ้น

“เราห่วงว่าหากการเมืองยืดเยื้อจนนำไปสู่ การประท้วงรุนแรงที่กระทบต่อช่วงไฮซีซั่นของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4แน่นอน จากเดิมที่เรามองจีดีพีไตรมาส 4 โตเฉียด 5% แต่หากผลกระทบจำกัดเฉพาะไตรมาส 3 แล้วจบ ดังนั้นก็หวังว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย”

ชี้ผลโหวตไม่เซอร์ไพรส์ตลาด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ กล่าวว่า ผลการลงคะแนนเสียงเลือกวันที่ 13 ก.ค.2566 ผลออกมาเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะโหวตไม่ผ่านในรอบแรก โดยผลที่ออกมานั้นเป็นผลดีกลับหุ้นบางกลุ่มทำให้มีแรงเก็งกำไรเข้ามา เช่นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ลดแรงกดดันการปรับลดค่าไฟฟ้า กลุ่มรับเหมาก่อสร้างจากผ่อนคลายการปรับขึ้นค่าแรงและหุ้นทุนใหญ่ที่กระจายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

ดังนั้นคาดว่าตลาดหุ้นไทยในวันที่ 14 ก.ค.2566 คาดว่าหากจะปรับตัวลงก็จะลงไม่แรง แต่หากปรับขึ้นก็จะขึ้นไม่มาก โดยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ แต่ที่ต้องจับตาในระยะสั้นว่าจากนี้จะมีประเด็นนอกสภา คือ การยกระดับการชุมนุมจะเป็นอย่างไร และหากประเด็นการเมืองมีความยืดเยื้อจะทำให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่านพรบ.งบประมาณฯล่าช้าออกไป ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

สำหรับจากนี้ต้องติดตามใน 3 ประเด็น คือ

1.การโหวตเลือกนายกรอบที่ 2 จะเป็นอย่างไร ยังจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้อีกหรือไม่

2.ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณากรณีนายพิธา ถือหุ้นไอทีวี และการแก้ ม.112

3.การชุมนุม ดังนั้นมองกรอบดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าไว้ที่แนวรับ 1,450-1,460 จุด แนวต้านที่ 1,520 จุด

นายณัฐชาต กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยประเมินผลการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาล 3 กรณี คือ

1.ผลโหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่มาก เพราะมีความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกลที่เป็นลบต่อตลาดทุน 

2.ผลโหวตผ่านเพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลแต่ยังจับขั้วกับพรรคก้าวไกล ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาอีกนิดจากกรณีที่ 1 

3.การเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แต่ตอบไม่ได้ว่าจะมีผลต่อดัชนีอย่างไร เพราะหากการชุมนุมควบคุมได้จะส่งผลลบไม่มาก แต่ถ้าเกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบมากกับดัชนี

ดังนั้นไม่ว่าผลจะออกมาในกรณีไหนก็จะส่งผลบวกต่อดัชนีขึ้นแบบสุดโต่ง เพราะพื้นฐานหุ้นไทยไม่รองรับหรือลดลงไปอย่างมาก

งบประมาณปี 67 ล่าช้าฉุดลงทุนรัฐ

นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่แบบไม่มีปัญหาติดขัด และไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ดังนั้นต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายเคารพการแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและชุมนุมได้

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้ามากขึ้นรวมไปถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่จะมีความล่าช้าตามไปด้วย ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐอาจถดถอยลง ขณะที่ภาคเอกชนต้องเผชิญปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสวนทางกับกำลังซื้อของคนที่ลดลงจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย

“ต้องยอมรับว่าหากมีการชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้คนไม่อยากออกจากบ้าน หากการชุมนุมนั้นไม่ได้ยืดเยื้อจนกลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบในระยะยาว” 

นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ทำใจแล้วตั้งแต่มีการเลือกตั้งว่า สถานการณ์ยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะลงตัว ส่งผลกระทบในระยะสั้น

ฉะนั้นแนวทางการดำเนินธุรกิจคงต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ผู้ประกอบการจะมีการจัดแคมเปญและเปิดตัวโครงการใหม่รองรับดีมานด์ที่กลับเข้ามาทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่เกิดความรุนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

‘ททท.’มอนิเตอร์เตรียมแผนรับมือ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ทาง ททท.จับตามอนิเตอร์ต่อเนื่อง เพราะไตรมาส 3 เป็นช่วงที่ภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวต้องเริ่มทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติตลาดระยะไกล เช่น ยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะถึงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) เดินทางเข้าไทยตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ตลาดระยะใกล้จากเอเชียพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องพยายามรักษาแรงส่ง (โมเมนตัม) ไม่ให้เสียไป เช่น ตลาดหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่ปริมาณเที่ยวบินจากจีนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวไทยเคยรับมือสถานการณ์ทางการเมืองกันมาแล้ว รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง จริงๆ ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวกระจายทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ ททท.มีแนวทางปฏิบัติอยู่แล้วหากสถานการณ์ไม่ดี ไปถึงขั้นที่มีการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว

“สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกอย่างเป็นการคาดการณ์ ส่วนประเด็นปัจจัยทางการเมืองเป็นความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนในไตรมาส 3 หรือตลอดครึ่งปีหลัง ททท.มองว่าการเมืองเป็นความเสี่ยงภายนอก เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบไม่ว่าจะมิติใดก็ตาม แต่ถ้าสุดท้ายมันเกิดขึ้นก็ต้องบริหารความเสี่ยงนี้ ซึ่ง ททท.เตรียมแนวปฏิบัติที่ไม่น่าจะแตกต่างจากเดิมที่เคยทำมา”