กลยุทธ์สร้างระบบนิเวศ  เพื่อการลงทุนยั่งยืนใน EEC

ในช่วงปี 2023 – 2027 EEC วางเป้าหมายดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศรวม 2.2 ล้านล้านบาท โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “การพัฒนาต้นแบบที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคต่าง ๆ EEC ได้วางแผนกลยุทธ์ใหม่หลายด้านเสริมบนจุดแข็งของไทย

ที่มีทำเลยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานหลัก ตลาดการเงินและโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินมีระดับการพัฒนาที่ดี ตัวอย่างเช่น

1. แนวทางผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างคลัสเตอร์ขยายห่วงโซ่อุปทานเชิงรุก EEC ตั้งเป้าเม็ดเงินลงทุนใหม่ปีละ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนฐานปกติ 2.5 แสนล้านบาท และการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ 1.5 แสนล้านบาท เช่น การแพทย์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ นวัตกรรมเกษตรภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ผ่านกลยุทธ์จัด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเป็น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัลเทคโนโลยี BCG และบริการ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนต่างประเทศที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มห่วงโซ่อุปทานต้นทางและปลายทางของแต่ละคลัสเตอร์

2. แนวทางสนับสนุนการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนผ่านความพร้อมของ EEC 4 ด้าน ได้แก่ 1) เตรียมความพร้อมที่ดิน (Land) ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการจัดสรรพื้นที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจสีเขียว 2) พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง (Labour) จัดทำแพ็กเกจจูงใจนักลงทุนด้านความพร้อมของแรงงานในพื้นที่ EEC ที่ตรงความต้องการ 3) เตรียมปรับปรุงกลไกกฎหมายและระเบียบ (Law and regulations) ผลักดันกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อให้ EEC เป็น One-stop service ได้จริง และ 4) เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ (Logistics infrastructure) โดยเฉพาะ 4 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

3. โครงการพัฒนาแหล่งระดมทุนใหม่ (EEC Fundraising Venue) โดย EEC ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยสร้างระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการให้บริการทางการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนของไทยสำหรับบริษัทข้ามชาติ บริษัทไทยขนาดใหญ่ SME และ Start-Up ที่สนใจลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สนใจจะมาลงทุนในพื้นที่ EEC โครงการนี้จะเอื้อให้นักลงทุนที่ต้องการลงทุนใน EEC เข้าถึงบริการการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนไทยได้หลากหลายขึ้น

โครงการนี้จะพัฒนาระบบรองรับการระดมทุนและการซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับนักลงทุนในพื้นที่ EEC ผ่านแหล่งระดมทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. แบบเดิม จะมีการพัฒนากระดาน EEC ที่ระดมทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่ต้องการระดมทุนและจัดทำงบการเงินหรือใช้เงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินหลัก ให้สามารถระดมทุนและนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยได้สะดวก และมีระบบซื้อขายแพลตฟอร์มรองรับ 2. แบบดิจิทัล ผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จะเป็นทางเลือกใหม่ให้ธุรกิจมูลค่าสูงที่ต้องการระดมทุนแบบ Project finance รวมถึงธุรกิจ Start-Up และธุรกิจ Innovation-based ในการระดมทุน

กลยุทธ์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไม่แข่งด้วยสิทธิประโยชน์ภาษี แต่เน้นสิทธิประโยชน์ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น ผ่านระบบการบริหารจัดการก่อนและหลังการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างระบบนิเวศการลงทุนบนจุดแข็งของไทย สามารถเรียกเสน่ห์ดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศในจังหวะทิศทางโลกกำลังแบ่งขั้วจับพันธมิตรฐานการผลิตใหม่ได้มากขึ้น