หลุมดำความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ในช่วงเวลา 'เปลี่ยนผ่านรัฐบาล'

หลุมดำความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ  ในช่วงเวลา 'เปลี่ยนผ่านรัฐบาล'

การเลือกตั้งที่ผ่านไปตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.หรือประมาณ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมาไม่ได้สร้างโมเมนตั้มเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

สาเหตุเนื่องมาจาก “ความไม่แน่นอนทางการเมือง”ยังปกคลุมต่อเนื่องทำให้การเมืองไทยอยู่ในภาวะอึมครึม มีหลายเรื่องที่อาจส่งผลต่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่การยื่นเรื่องให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล

การต่อรองเก้าอี้ตำแหน่งสำคัญเช่น เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ที่มีการเลื่อนการหารือกันระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง“สูตร” การจัดตั้งรัฐบาลมากมายหลายสูตร

รวมถึงการฝ่าด่านสำคัญที่“พิธา”ในฐานะแคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียวจากพรรคก้าวไกลต้องผ่านไปให้ได้ในการโหวตเลือกนายกฯซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.จำนวนไม่น้อยถึงจะได้เป็นนายกฯคนที่ 30

ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเวลา“เปลี่ยนผ่านรัฐบาล”เป็นช่วงเวลาที่ควรมีการพูดถึงนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลต่อไปจะเดินหน้าทันทีที่เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล กลายเป็นช่วงเวลาการต่อรองทางการเมือง แม้พรรคอันดับ 1 – 2 ที่ชนะการเลือกตั้งจะมีการตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ มีการหารือกันเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าแผนการทำงานจะทำในเรื่องใดบ้าง

ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิด“หลุมดำความเชื่อมั่น”ขนาดใหญ่ที่เกิดกับเศรษฐกิจไทย

ตัวเลขหลายตัวสะท้อนออกมาในทางลบ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดไปถึงระดับ 1,460 จุดหรือลดลงมากกว่า 100 จุด จากช่วงก่อนเลือกตั้ง ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาระดับ 1,500 จุดจากการเก็งกำไรหุ้นขนาดใหญ่ช่วงปลายสัปดาห์

บล.เอเชียพลัสระบุว่าการปรับลดลงของดัชนีหุ้นมาจากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติติดกัน 18 วันทำการ มูลค่าการขายสุทธิกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วน“ค่าเงินบาท”ก็อ่อนค่าอย่างรวดเร็วสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 35.6 บาทต่อดอลลาร์ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากไทย สอดคล้องกับก่อนหน้านี้พบการขายพันธบัตรรัฐบาลมูลค่านับหมื่นล้านบาทภายในวันเดียว

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศยังมีทิศทางการฟื้นตัวจากโควิด-19 เห็นได้จากการบริโภคของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานจากภาคท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือนละประมาณ 2 ล้านคน

แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป ในส่วนของภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐจะได้รับผลกระทบหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งส่งผลให้การจัดทำงบประมาณในปี 2567 ล่าช้าออกไปด้วย

ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

แต่หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ..อย่าสร้างเงื่อนไขจนเส้นทางทางการเมืองตีบตันไปต่อไม่ได้ เพราะหากการเมืองติดล็อกย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก หลุมดำความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยจะขยายใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม!