EEC หมุดหมายนักลงทุนจีนทั่วโลก ‘ธนินท์’ ชี้มีสิทธิประโยชน์หนุนเต็มที่

EEC หมุดหมายนักลงทุนจีนทั่วโลก  ‘ธนินท์’ ชี้มีสิทธิประโยชน์หนุนเต็มที่

ไทยจัดเวทีนักธุรกิจจีนระดับโลก “ธนินท์” ชี้เทคโนโลยีคือโลกการค้ายุคใหม่ ชวนนักธุรกิจจีนลงทุนอีอีซี หอการค้าไทย-จีน คาดดึงเงินทุนเข้าไทยแสนล้าน สนใจลงทุนอีวี สกพอ.ชู “วันสต๊อปเซอร์วิส” ดูดการลงทุนในอีอีซี ปตท.ระบุการเมืองเปลี่ยนไม่กระทบความสัมพันธ์ธุรกิจไทย-จีน

Key Points 

  • ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention) ครั้งที่ 16
  • ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ขึ้นเวทีปาฐกถาขอให้นักธุรกิจจีนโพ้นทะเลทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน EEC ประเทศไทย
  • การลงทุนใน EEC สอดคล้องกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน
  • หอการค้าไทย-จีน คาดว่าการจัดประชุมจะทำให้เกิดการลงทุนหลังจากนี้มากกว่า 1 แสนล้านบาท

หอการค้าไทย-จีน จัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention - WCEC) ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2566 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หอการค้าไทย-จีน ซึ่งเป็นการรวมตัวร่วมประชุมครั้งสำคัญของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก 3,000 คน จาก 50 ประเทศ และเป็นการจัดครั้งแรกนับจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

การจัดประชุมครั้งนี้ มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และนายเกา หยุนหลง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี และมีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมจำนวนมาก

นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ปัจจุบันโลกเทคโนโลยีก้าวหน้ามากจึงจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการต่างๆ จากสหรัฐ และต้องนำทรัพยากรจากทั่วโลกเข้ามาที่จีนทั้งด้านบุคคลากร เงินทุน เทคโนโลยีและวัตถุดิบ 

“วันนี้จีนมีปัจจัยพื้นฐานด้านต่างๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพลิกโฉมการพัฒนาจากเดิมที่ใช้แรงงานราคาถูก เราจึงมีความมั่นใจในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งตนขอชื่นชมและหนุนนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน ที่นายสี จิ้นผิง ประธานธิบดีวางแนวทางไว้เพราะเป็นการร่วมพัฒนา แบ่งปันเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค”

EEC หมุดหมายนักลงทุนจีนทั่วโลก  ‘ธนินท์’ ชี้มีสิทธิประโยชน์หนุนเต็มที่

ทั้งนี้ โลกยุคใหม่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยสงครามการค้าทำให้ต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก ซึ่งในโลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น

“การผลิตเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก แต่การนำมาใช้นั้นง่าย สมัยก่อนคนชอบมองว่า เกษตรกรจะไปใช้เทคโนโลยียากๆได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริง ความยากมันอยู่ที่คนผลิตเทคโนโลยี แต่พอเกษตรกรนำมาใช้มันง่ายแล้ว อย่างตอนที่ตนขยายไปทำธุรกิจที่จีน ได้หาข้อมูลจนพบว่า มอเตอร์ไซค์ที่ทนที่สุด ขับขึ้นเขาได้ ซ่อมง่าย คือฮอนด้า ซึ่งตอนไปญี่ปุ่น รุ่นนี้เค้าไม่ใช้กันแล้ว เพราะมีรุ่นที่ดีกว่า ทำให้เจรจาขอซื้อมาในราคาที่ถูกมากได้ และขายดีมากที่จีน ดังนั้น เราต้องเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเสมอไป”

  • การค้ายุคใหม่ต้องใช้เทคโนโลยี

รวมทั้งในยุค 4.0 ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีความสำคัญ เพราะอีคอมเมิร์ชต้องอาศัย การผลิตสินค้าที่จับต้องได้ และต้องอาศัยโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางบกเพื่อส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มูลค่าสูงขึ้น จึงจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชและโลจิสติกส์ดำรงอยู่ต่อไป

EEC หมุดหมายนักลงทุนจีนทั่วโลก  ‘ธนินท์’ ชี้มีสิทธิประโยชน์หนุนเต็มที่

“การค้าของโลกในอนาคตนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณภาพของสินค้าก็จะดีขึ้น” 

ในขณะเดียวกันต้องทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจในยุค 4.0 ซึ่งไม่ได้หมายถึงการให้ละทิ้งธุรกิจเก่าที่เคยมีมาก่อน แต่ให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจที่มีอยู่ เพื่อทำให้ธุรกิจมีความทันสมัยมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจออกไปให้มากขึ้น

  • ดึงนักธุรกิจจีนทั่วโลกลงทุนอีอีซี

นายธนินท์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นใจกลางอาเซียน จึงขอฝากนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลทุกคน และนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกจะพิจารณามาลงทุนที่ไทยโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยไทยมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น สิทธิปลอดภาษีโครงการที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์เทคโนโลยี

สุดท้ายนี้อยากแบ่งปันแนวคิดว่าในอนาคตสิ่งสำคัญสุดของอุตสาหกรรมการผลิตต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งซีพีเพิ่งเดินทางไปฝรั่งเศสเห็นนโยบายลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยประชาชนไม่ได้คัดค้านการสร้างโรงงาน เพราะมีมาตรการลดความเสี่ยงและการคุ้มครองความเสี่ยง ขณะที่พลังงานสะอาด น้ำ ลมและแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานสะอาด ขณะที่พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

  • หวังดึงจีนลงทุนไทย1แสนล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ช่วงจัดงาน 4-5 วัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีเงินสะพัดเศรษฐกิจไทย 500 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายดึงต่างชาติมาลงทุนไทยเพิ่มขึ้น โดยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการลงทุนของไทยและจีนที่ต้องจับตา คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากมี 3 ค่ายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งหอการค้าไทย-จีน ชวนนักลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง โดยชูจุดเด่นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีสิทธิพิเศษทางภาษี และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า รถยนต์อีวี จะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ในตลาดยานยนต์

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จีนและไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันมายาวนาน มีการทำการค้า การลงทุน และเชื่อมโยงสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 และการลงทุนใน EEC สอดคล้องกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ดังนั้นการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้นักธุรกิจจีนจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะและแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน

  • “อีอีซี”เชื่อมลงทุนทั้งเอเชีย

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การพัฒนา EEC มีแนวทางไม่ต่างจากการพัฒนา Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่ง EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีการพัฒนาต่อเนื่อง 30 ปีก่อน จากการพัฒนาชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ต่อยอดเป็น EEC ในช่วง 5 ปีนี้ รวมทั้งมีลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลมีโจทย์ใหม่ที่ให้นำโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดมาดึงอุสาหกรรมเป้าหมาย

ไทยถือเป็นศูนย์กลางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ใน 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมโยงกลุ่มประเทศได้ทั้ง RCEP และอินโดแปซิฟิก โดยหากมาลงทุนไทยจะใช้สิทธิตามข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังนั้น ใช้ EEC เป็นฐานลงทุนที่เป็นสปริงบอร์ดขยายไปประเทศอื่นได้ เพราะไทยเชื่องโยงได้ทั้งถนน รถไฟ เรือและอากาศ ซึ่งส่งผ่านจีน ลาว กัมพูชาและเมียนมา โดยมีโครงสร้างพื้นฐานช่วยเกิดการค้าลงทุนมากขึ้น

“EEC เป็นพื้นที่ที่ดีที่สุด นอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดในไทยแล้ว ยังใช้กรอบความร่วมมือที่ดีที่สุด รวมทั้งมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกฎหมายส่งเสริมเฉพาะ EEC และเตรียมขยายท่าเรือ 2 แห่ง ขยายสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง”

  • “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”หนุนลงทุน

นายไช่ กวาน เซิน ประธานหอการค้าจีน-ฮ่องกง และประธานกรรมการ บริษัท ซิงหัว กรุ๊ป กล่าวว่า จากการที่ประธานาธิบดีจีน ตั้งโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ได้เกิดการพัฒนาและจับคู่ประเทศ ร่วมเซ็นสัญญาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกจีนไปประเทศในแถบความร่วมมือ 13.8 ล้านล้านหยวน สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็น 1 เดียว รวมถึงขยายความร่วมมือเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อสร้างความมั่นคงฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก

สำหรับ โครงการ “อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” หรือ Greater Bay Area (GBA) ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ตลาดต่างประเทศเข้าสู่ตลาดแผ่นดินใหญ่จีนที่มีประชากร 86 ล้านคน เป็นตลาดใหญ่ที่สุดมีการเติบโตอันดับ 2 ของโลก และกำลังพัฒนาเป็นเขตเทคโนโลยีแห่งโลกทั้งด้านพลังงานใหม่ เอไอ เครื่องจักร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทั่วโลกมั่นใจที่ลงทุนในจีน

“ประธานาธิบดีจีนยึดมั่นให้เปิดกว้าง เรามีนโยบายการนำเข้า ส่งออก การเงิน การเสียภาษี มีการเงินหมุนเวียนที่เสรีภาพ มีบริการระดับนานาชาติ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความสามารถแข่งขันที่แข็งแกร่ง เชื่อมโยงทั้งตะวันออกและตะวันตก”

อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางพัฒนาเศรษฐกิจโลก จากการที่ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว การเข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ได้สร้างระเบียบการเงินให้เหมาะสมให้ทุกผ่ายที่พัฒนา จุดเด่นของฮ่องกงจะมีเศรษฐกิจเสรี เก็บภาษีเรียบต่ำ เรียบง่าย กฏหมายที่ดี โครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกสบาย เป็นศูนยพัฒนา 8 ด้านให้ต่างชาติมาตั้งรากฐาน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศแบบคู่ขนานตอบโจทย์นักลงทุน บริการอย่างเท่าทัน และใช้จุดแกร่งขยายพาร์ทเนอร์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ ฮ่องกงจะส่งเสริมนักลงทุน ถือเป็นตลาดใหญ่สุดของสกุลหยวน โดยใช้จุดเด่น สนับสนุนโครงการ 1 เส้นทาง หนุนการลงทุนต่างประเทศ ช่วยระดมทุน ตอบโจทย์ประกันภัย สร้างช่องทางการเงินที่ดีให้กับนักลงทุนต่างประเทศเพราะจีเอ เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอันดับต้นของโลก อาทิ ด้านโทรคมนาคม การแพทย์ อาร์แอนด์ดี การเกษตร เป็นต้น เชื่อมโยงให้บริษัทลงทุนที่อาเซียน และเอาบริษัทในอาเซียนมาลงทุนที่แผ่นดินใหญ่ สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค

  • การเมืองเปลี่ยนไม่กระทบความสัมพันธ์

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GBA ถือเป็นอ่าวเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีสูง รวมทั้งจีนมีมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีจำนวนมาก ซึ่ง ปตท.ทำธุรกิจด้านพลังงาน ดังนั้น พลังงานในอนาคตจะมาจากพลังงานสีเขียว อาทิ โซลาร์ ลม โดยจีนวางเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านพลังงานสีเขียวในอีกไม่นาน และ ปตท.ก็ดำเนินการอยู่เช่นกัน

“จีนกับไทยมีความเชื่อมโยง มีสายเลือดปนกันมานาน ไม่ว่าการเมืองจะเป็นแบบไหน โลกจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าความเชื่อมโยงไทยกับจีนจะเหมือนเดิม จีนมีเทคโนโลยีสูง ต้องการคนช่วยทั้ง ใช้ ขาย และพัฒนา ดังนั้น เพื่อนจะต้องมีความรู้ใกล้เคียงกันและไม่เก่งเกินไป ไทยไม่มีนักวิทยาศาสตร์เท่าจีน จะเน้นสร้างวิศวกรเป็นหลัก จึงเหมาะเป็นผู้ช่วยที่ดีและเก่ง สามารถเข้าใจที่จะถ่ายทอดแลตอบโจทย์ได้”

  • “พาณิชย์”ชู FTA จูงใจลงทุนในไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดและปาฐกถาในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ว่า วันนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก ใช้เวทีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน นักธุรกิจเชื้อสายจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลยังมีบทบาทเสมือนสะพานเชื่อมสำคัญระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับภาคธุรกิจเอกชนในนานาประเทศ

ทั้งนี้ปัจจุบันต้องถือว่าจีนก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งและเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับสองของโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศต่างๆเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับจีนในหลายมิติ ทั้งขับเคลื่อน FTA อาเซียน-จีน และผ่านความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีสมาชิก 15 ประเทศ มีไทยกับจีนอยู่ในนั้นด้วย