การทางฯ ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้นรายได้เชิงพาณิชย์ที่ดินริมทาง

การทางฯ ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้นรายได้เชิงพาณิชย์ที่ดินริมทาง

กทพ. เข็นที่ดินริมทางในเขตทางพิเศษ 2 แปลง 140 ไร่ ประเดิมดึงเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หวังโกยรายได้ 5.1 พันล้านบาท คาดเสนอ ครม.พร้อมเปิดประมูลกลางปีหน้า

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง และโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมระบุว่า ปัจจุบัน กทพ.มีพื้นที่ใกล้ทางพิเศษที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ 4,250 ไร่ ซึ่งจะเป็นโอกาสของการหารายได้นอกเหนือธุรกิจหลัก (Non core) ส่งผลให้ กทพ.เล็งเห็นโอกาส และเตรียมนำร่อง 2 พื้นที่แปลงศักยภาพมาเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net cost

โดยพื้นที่นำร่องดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง มีพื้นที่ 60 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 17 + 300 ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งเป็นทางพิเศษที่มีปริมาณการจราจรสูงและมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ (Fully Controlled Access) เป็นที่พักริมทางที่มีสิ่งอำนวย ความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ห้องน้ำ บริการข้อมูลการเดินทาง เป็นต้น โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,324 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 627 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 1,697 ล้านบาท

การทางฯ ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้นรายได้เชิงพาณิชย์ที่ดินริมทาง

และ 2. โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีพื้นที่ 80 ไร่ อยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ใกล้เคียงชุมชนการศึกษาขนาดใหญ่และหน่วยงานต่างๆ ใมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่พักริมทางและพื้นที่จอดแล้วจร (Park  &  Ride) อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,780 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 706 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 2,074 ล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ซึ่งจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปีหน้า ก่อนจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชน และได้ตัวผู้ร่วมลงทุนในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในต้นปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571 ซึ่งเบื้องต้น กทพ.ศึกษาพบว่าโครงการลงทุนนี้มีความคุ้มค่า และจูงใจเอกชนร่วมลงทุน เพราะมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial internal Rate of Return : FIRR) อยู่ที่ 10% โดยโครงการนี้จะมีอายุสัญญาร่วมทุน 33 ปี แบ่งเป็น ก่อสร้าง 3 ปี และบริหารโครงการ 30 ปี

การทางฯ ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้นรายได้เชิงพาณิชย์ที่ดินริมทาง

"พื้นที่ 2 แปลงนี้ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ครั้งแรกของการทางฯ เราคาดหวังว่าเอกชนจะตอบรับร่วมลงทุนจำนวนมาก และยังมีแผนจะนำพื้นที่ศักยภาพในแปลงอื่นๆ มาเปิดประมูลเพิ่มเติม เช่น บริเวณใต้ทางด่วนสีลม เพลินจิต อนุสาวรีย์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญทำให้การทางฯ มีรายได้นอกเหนือจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง จะมีรายได้จากการพัฒนาที่ดิน และพัฒนาเพื่อสนับสนุนกิจการการทางพิเศษด้วย"