‘ข้าว’ ขาดตลาดหนักสุดในรอบ 20 ปี จากเอลนีโญ ภัยแล้ง ปุ๋ยแพง ผู้ผลิตกักตุนเอง

‘ข้าว’ ขาดตลาดหนักสุดในรอบ 20 ปี จากเอลนีโญ ภัยแล้ง ปุ๋ยแพง ผู้ผลิตกักตุนเอง

ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ป่วนสต๊อกข้าวทั่วโลก ผลสะเทือนสงครามรัสเซีย-ยูเครนดัน “วิกฤติปุ๋ยแพง” เคราะห์ซ้ำภัยแล้ง ’66 ต่อเนื่องยาวนาน ผู้ผลิตรายใหญ่สกัดส่งออก-กักตุนเพิ่ม ด้าน “ไทย” กระทบด้วย

Key Points:

  • ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ในปีนี้ นอกจากจะทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงแล้ว ยังส่งผลโดยตรงกับพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะ “ข้าว” สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย ที่มีการประเมินว่า ในปีนี้ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะขาดแคลนมากที่สุดในรอบ 20 ปี
  • สาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2565 จากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยสูง-ขาดตลาด ซึ่งหลังจากราคาปุ๋ยลดลงได้ไม่นาน ปี 2566 ก็ต้องเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่อง 3 ปีจากเอลนีโญ
  • นักวิเคราะห์ประเมินว่า ประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง ซึ่งผลผลิตข้าวที่มี “ดีมานด์” มากกว่า “ซัพพลาย” กระทบกลุ่มคนเปราะบาง-ยากจนมากที่สุด


ปี 2565 สต๊อกข้าวทั่วโลกอยู่ในปริมาณที่ “ล้นเกิน” หรือมี “ซัพพลาย” มากกว่า “ดีมานด์” ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่สำหรับข้าวนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่กระทบตลาดเหมือนวัตถุดิบอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 กลับไม่เป็นเช่นนั้น “ซัพพลาย” ที่เคยล้นเกินกำลังถูกท้าทายด้วยปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่อาจสร้างวิกฤติภัยแล้งลากยาวไปตลอด 3 ปีหลังจากนี้ แน่นอนว่า ภัยแล้งที่มาพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป อุณหภูมิน้ำที่ไม่เหมาะกับการเกษตรย่อมส่งผลโดยตรงกับเกษตรกรแบบไม่เลือกสายพันธุ์ ในที่นี้รวมถึง “ตลาดข้าว” ด้วย

‘ข้าว’ ขาดตลาดหนักสุดในรอบ 20 ปี จากเอลนีโญ ภัยแล้ง ปุ๋ยแพง ผู้ผลิตกักตุนเอง

  • เริ่มจากวิกฤติพลังงาน-ปุ๋ยแพง ถึงความตึงตัวของตลาดข้าวทั่วโลก

หากย้อนกลับไปในปี 2565 ก่อนที่วิกฤติราคาอาหารจะลากยาวมาถึงราคาข้าวนั้น “ปุ๋ยแพง” เป็นประเด็นทางการค้ามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากความร้อนระอุของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบกันเป็นโดมิโน เริ่มจากวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเป็นปุ๋ย ทั้งปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ปุ๋ย DAP ฯลฯ ที่มีสารตั้งต้น-ส่วนประกอบสำคัญจากเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

“รัสเซีย” ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองทรัพยากรสำคัญเหล่านี้ ประกาศงดส่งออกวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย รวมถึง “จีน” ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ก็เริ่มมีการกักตุนสำรองปุ๋ยไว้ใช้เองเช่นกัน ทำให้ปริมาณปุ๋ยในตลาดโลกขาดแคลนอย่างหนัก เมื่อวัตถุดิบสำคัญลดลง ผลผลิตที่ได้ก็น้อยตามไปด้วย ราคาวัตถุดิบหน้าแผงจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

สัญญาณของวิกฤติเริ่มก่อรูปมาตั้งแต่ปี 2565 แต่ตลาดข้าวยังลอยตัว-ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ใช้คำว่า “The world is awash in rice” หรือโลกกำลังถูกปกคลุมด้วยปริมาณข้าวจำนวนมหาศาล แต่ในปีนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนเกินของการผลิตข้าวกำลังถูกท้าทายด้วยปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ด้วยสภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตที่กำลังจะมาถึง 

ปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดโลกลดลงมาจากจุดสูงสุดแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงสูงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับราคาเดิมเมื่อปี 2563 โดยสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI) ระบุว่า ประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองส่วนแบ่งตลาดจากการผลิตข้าว 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกข้าวเป็นสินค้าหลักอีกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

โดยประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย จีน และเบลารุส เป็นหลัก ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนทั้งสิ้น ด้วยข้อจำกัดเรื่องสงครามและการสกัดการส่งออกปุ๋ย ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นนำเข้าปุ๋ยจากซัพพลายเออร์รายอื่นหรือลดการนำเข้าแทน

อย่างไรก็ตาม “ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องใช้ปุ๋ยอย่างเข้มข้น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน บวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่ สร้างความหวาดระแวงให้กับผู้ผลิตจนอาจมีการจำกัดการส่งออกเพื่อกักตุนผลผลิตไว้เอง ทำให้ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่า สต๊อกข้าวทั่วโลกจะลดลง แต่จะไปถึงขั้น “ขาดแคลน” หรือไม่คงต้องรอดูสถานการณ์หลังจากนี้ต่อไปด้วยการประเมินอย่างใกล้ชิด

‘ข้าว’ ขาดตลาดหนักสุดในรอบ 20 ปี จากเอลนีโญ ภัยแล้ง ปุ๋ยแพง ผู้ผลิตกักตุนเอง

  • อินเดีย-ปากีสถานเผชิญปัญหาภายใน ดัน “ดีมานด์ข้าว” พุ่งสูง

สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา ราคาธัญพืชทั่วโลกโดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นราคาก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็วภายหลังรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 และยังคงสูงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน

ในตอนนั้นราคาข้าวยังคงที่อยู่ เนื่องจากผู้ส่งออกรายใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่ในระยะหลังกลับพบว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ราคาข้าวเริ่มทยอยปรับตัวขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะราคาส่งออกของผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งสองประเทศ ได้แก่ ไทยและเวียดนาม

จากข้อมูลพบว่า ราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 495 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2565 กว่า 13 เปอร์เซ็นต์ ด้านเวียดนามราคาส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม 9.6 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนถึงภาวะขาดแคลนผลผลิตข้าวที่เริ่มปรากฏชัด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อีกสองประเทศอย่าง “อินเดีย” และ “ปากีสถาน” ต่างเผชิญกับปัจจัยภายในที่ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว

โดยอินเดียเริ่มมีการจำกัดการส่งออกตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการในประเทศ ส่วนปากีสถานก็สูญเสียผลผลิตไปถึง 31 เปอร์เซ็นต์จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2566 จึงเป็นปีแห่งความท้าทายของตลาดข้าวอย่างมีนัยสำคัญ ความต้องการบริโภคสูงสุดเป็นประวัติการณ์

  • ฉากทัศน์ต่อไปของ “สต๊อกข้าว” และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

มีการประเมินว่า ในปีนี้ ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก “เอลนีโญ” ค่อนข้างน่าเป็นห่วง สภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ปริมาณน้ำฝนที่มีผลโดยตรงกับการเพาะปลูกลดลงอย่างแน่นอน สำหรับอินเดียที่มีการจำกัดปริมาณการส่งออกอยู่แล้วก็ต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งมากขึ้นด้วย

ส่วนประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก ที่ผ่านมาทางการไทยได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวจากปีละ 2 ครั้งเหลือเพียงปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยลง โดย ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ให้ข้อมูลกับบลูมเบิร์กว่า ปีนี้ตลาดข้าวจะกลับมาเป็นของ “ผู้ขาย” คาดว่าจะยังไม่ถึงกับขาดแคลน แต่อุปทานจะลดลงอย่างแน่นอน

‘ข้าว’ ขาดตลาดหนักสุดในรอบ 20 ปี จากเอลนีโญ ภัยแล้ง ปุ๋ยแพง ผู้ผลิตกักตุนเอง

ด้าน “Fitch Solutions Country Risk & Industry Research” สถาบันจัดทำรายงานข้อมูลเชิงลึกคาดการณ์ว่า ตลาดข้าวทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี โดยนักวิเคราะห์จากสถาบันฯ ให้ความเห็นว่า ราคาข้าวปีนี้จะดีดตัวสูงที่สุดในรอบทศวรรษ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคที่มีตลาดขนาดใหญ่ในประเทศแถบเอเชีย ราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกับอัตราเงินเฟ้อและความมั่นคงทางอาหาร โดยจะมีผลกระทบมากที่สุดกับครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ซึ่งตามการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แล้ว “ข้าว” เป็นพืชที่มีความอ่อนแอและมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ


นักวิเคราะห์แนะว่า หลังจากนี้ทุกประเทศควรติดตาม-เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐบาลควรผ่อนปรนนโยบายจำกัดการส่งออก เพราะการกักตุนจะยิ่งดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคในกลุ่มเปราะบาง

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsBloombergCNBCDWIFPRIThailand Business NewsThai PBS