เงินเฟ้ออิตาลีทำพิษ ดันราคา พิซซ่า พุ่ง มะเขือเทศ ขึ้นแรงสุดจาก พ.ค. ที่ 7.5%

เงินเฟ้ออิตาลีทำพิษ ดันราคา พิซซ่า พุ่ง มะเขือเทศ ขึ้นแรงสุดจาก พ.ค. ที่  7.5%

ข้อมูลเผย ค่าใช้จ่ายในการทำพิซซ่ามาร์เกอริตาคลาสสิก พุ่งมากกว่า 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในอิตาลี เหตุเงินเฟ้อจากต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น พบราคามะเขือเทศปรับตัวขึ้นแรงสุด 7.5% จากเดือน พ.ค. (MOM)

Key Points

  • ค่าใช้จ่ายในการทำพิซซ่ามาร์เกอริตาคลาสสิกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ของอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในอิตาลี
  • นักวิเคราะห์กังวลสถานการณ์เงินเฟ้อในยุโรป เพราะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
  • ค่าพลังงานเป็นตัวเดียวที่ปรับตัวลดลงหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือลดลง 1.4%

ค่าใช้จ่ายในการทำ พิซซ่ามาร์เกอริตาคลาสสิก (Classic Pizza Margherita) ของเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในอิตาลี โดยได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันมะกอกและมอสซาเรลล่าชีสที่พุ่งสูงขึ้น

ตามการคำนวณของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า ในเดือน พ.ค. ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ไปกับส่วนผสมและพลังงานในการปรุงอาหารอิตาลีพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 18.4% จากปีก่อนหน้า 

รวมทั้งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแบบรายเดือนยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมซึ่งอยู่ที่ 8% อย่างไรก็ดี อัตราการเพิ่มขึ้นของราคามีแนวโน้มลดลงจากเดือน เม.ย.และเมื่อเปรียบเทียบกับจุดสูงสุดในเดือนพ.ย.ที่มากกว่า 30% 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อพิซซ่าจากร้านอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มความน่าสนใจในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

ส่วนดัชนีที่ใช้วัดการขึ้นลงของราคาพิซซ่าจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราคาแป้งสารี มะเขือเทศ มอสซาเรลล่า น้ำมันมะกอก และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นในการเปิดเตาอบ พบว่า ปัจจุบันราคามะเขือเทศปรับตัวขึ้นมากที่สุด ซึ่งแพงกว่าเดือนเม.ย. 7.5% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากพลังงานเป็นรายการเดียวที่ ลดลง 1.4% 

หากพิจารณาเป็นรายการ พบว่า

ราคาแป้งปรับตัวสูงขึ้น 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 0.3% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน

ราคามอสซาเรลล่าชีสปรับตัวสูงขึ้น 22.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ  0.3%   เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน

ราคามะเขือเทศปรับตัวสูงขึ้น 18.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 7.5% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน

ราคาน้ำมันมะกอกปรับตัวสูงขึ้น 24.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ 1.0% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน

ค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น 13.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ ลดลง 1.4% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป นักวิเคราะห์ส่วนมากกังวลปัญหาเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศในยุโรปมากที่สุดเนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่เกิดมาจากต้นทุนของสินค้า ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ในขณะที่ในสหรัฐเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการซื้อภายในประเทศและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้

อ้างอิง

Bloomberg